สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิด “ระบบลำเลียงแสงที่ 1” ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าส่วนราชการ และ ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการ และผลงานวิจัย ณ บริเวณโถงนิทรรศการ อาคารสิรินธรวิชโชทัย ฝั่งบี ประกอบไปด้วย
1. โครงการสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านวิชาการ CERN-DESY-GSI/FAIR
2. โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค สำหรับประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม
3. โครงการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 GeV
4. งานวิจัยเรื่องกระจกเกรียบโบราณจากแสงซินโครตรอน
5. นิทรรศการประวัติความก้าวหน้าของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
โดยหลังจากทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายระบบลำเลียงแสงที่ 1 แล้ว ทรงรับฟังการนำเสนอนิทรรศการและผลงานวิจัยระบบลำเลียงแสงที่ 1 ได้แก่
- ระบบลำเลียงแสงที่ 1.1 W: Multiple X-ray Techniques เป็นระบบลำเลียงแสงที่รวมเทคนิคการทดลองที่ใช้รังสีเอกซ์ ทั้งการดูดกลืน การแทรกสอด และการเรืองรังสีเอกซ์ สามารถให้ข้อมูลธาตุองค์ประกอบ โครงสร้างผลึก และโครงสร้างระดับอะตอมของตัวอย่างได้ สามารถนำมาใช้กับงานวิจัยได้หลากหลายสาขา อาทิ วัสดุศาสตร์ เคมี สิ่งแวดล้อม โลหการ และวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ
- ระบบลำเลียงแสงที่ 1.2 W: X-ray Tomography เป็นระบบลำเลียงแสงที่สามารถถ้ายภาพภายในของวัตถุตัวอย่างได้โดยใช้รังสีเอกซ์ และไม่ทำลายตัวอย่างสามารถวิเคราะห์ทราบถึงองค์ประกอบของธาตุ ณ บริเวณต่าง ๆ ได้ เหมาะนำไปใช้วิเคราะห์ โครงสร้าง ความพรุน รอยแตกร้าว เส้นทางการไหล รวมถึงเฟสที่แตกต่างในวัสดุคอมโพสิต
- ระบบลำเลียงแสงที่ 1.3 W: Small/Wide Angle X-ray Scattering เป็นระบบลำเลียงแสงที่ใช้การกระเจิงของรังสีเอกซ์ บอกถึงการจัดเรียงตัวของโมเลกุล ขนาด รูปร่าง โครงสร้างของตัวอย่างได้ในระดับนาโนเมตร ช่วยให้นักวิจัยสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับคุณสมบัติของสาร เช่น ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น หรือลักษณะการทำปฏิกิริยากับสารอื่น
ในโอกาสนี้ ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการและเสด็จฯ รับชมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในอาคาร ได้แก่ ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์เชื่อมอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศเพื่อการทดสอบดาวเทียม ห้องปฏิบัติการเชื่อมแล่นประสานโลหะในสภาวะสุญญากาศ และห้องปฏิบัติการความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครื่องเคลือบกระจกสำหรับโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์เชอเรนคอฟ (CTA) เป็นต้น จากการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนกว่า 20 ปี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ประสบความสำเร็จทั้งด้านการพัฒนาคนและเทคโนโลยี ผลิตผลงานวิจัยจากการใช้ประโยชน์ที่ครอบคลุมในทุกด้าน ตอบโจทย์วิจัยจากทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถสร้างเป็นนวัตกรรมให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.