ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่เดินหน้าขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดลำปาง นำงานด้าน อววน. เพิ่มขีดความสามารถจังหวัด พร้อมตั้ง “อว.ส่วนหน้า” เป็นหน่วยงานฯ ม้าเร็ว รับประเด็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แล้วประสานงานหน่วยงานเจ้าขององค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหา ให้ “ผศ.ดร.พงศธร คำใจหนัก” รองอธิการบดี ม.ราชภัฏลำปาง เป็นหัวหน้าหน่วย อว.ส่วนหน้า จ.ลำปาง มอบ ราชมงคลล้านนา รับผิดชอบด้านเกษตร ม.สวนดุสิต ดูท่องเที่ยว ราชภัฏลำปาง ดู เรื่องน้ำ กับการศึกษา มธ.ลำปาง ดูเรื่องการจัดการขยะ
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจังหวัดลำปางตามนโยบาย “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” โดยมีนายสุรพล บุรินทราพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้การต้อนรับ โดย ศ.ดร.เอนก เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการงานด้าน อววน. ที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดลำปาง ใน 6 ด้าน คือ ท่องเที่ยววิถีชุมชน - เกษตรปลอดภัย - การบริหารจัดการน้ำ - การบริหารจัดการขยะ - การพัฒนาสับปะรดครบวงจรด้วย วทน. - เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการพื้นที่
จากนั้น ศ.ดร.เอนก เป็นประธานการประชุมการนำงานด้าน อววน. ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัด กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ โดยใช้องค์ความรู้แบบบูรณาการศาสตร์ ผนวกกับงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการรวบรวมคนเก่งมาทำงานขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุดในทุกจังหวัด โดย อว. จะมี “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” หรือ “อว.ส่วนหน้า” ที่จะเป็นข้อต่อสำคัญในการเชื่อมโยง องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ อว. ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจากบุคลากรเฉพาะ ที่มีสมรรถนะสูง จากอุทยานวิทยาศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในสังกัด อว. โดยการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value Based Economy) ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่นวัตกรรมที่เป็น Demand-side และ บูรณาการงาน 3 ศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ สู่การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเป็นสำคัญ
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันมี หน้าที่สำคัญในการผลักดันภารกิจใน 4 ด้าน คือ 1.ประสานการนำงานด้าน อววน. เพิ่มขีดความสามารถผนวกกับศักยภาพจังหวัด 2.ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการด้าน อววน. ในจังหวัด 3.ส่งเสริมการนำงานด้าน อววน. สนับสนุนจังหวัด และ 4.เป็นหน่วยงานฯ ม้าเร็ว ที่จะรับประเด็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของจังหวัด แล้วประสานงานหน่วยงานเจ้าขององค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหา
“ในการนี้ อว. ได้แต่งตั้ง หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน จังหวัดลำปาง ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฯ คือ ผศ.ดร.พงศธร คำใจหนัก รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โดยมีคณะทำงานขับเคลื่อนงานด้าน อววน. พัฒนาจังหวัดลำปาง ประกอบด้วย ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง ผู้แทนศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง ผู้แทนมหาวิทยาลัยเนชั่น (ลำปาง ) วิทยาลัยอินเตอร์เทคลำปาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดลำปาง”
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จังหวัดลำปางได้นำเสนอข้อเสนอความต้องการเพื่อพัฒนาจังหวัดลำปาง ประกอบด้วยปัญหาด้านการเกษตร ได้มอบให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปางรับผิดชอบ ปัญหาด้านการท่องเที่ยว มอบให้ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตรับผิดชอบ ปัญหาด้านการบริหารจัดการขยะมอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปางรับผิดชอบ ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องน้ำ และปัญหาด้านการศึกษามอบมหาวิทยาลัย ราชภัฏลำปางรับผิดชอบ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.