5 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในสังกัดและกำกับกระทรวง จำนวน 155 แห่ง ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เผยว่า อว. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิด "สถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่" โดย อว. และสถาบันอุดมศึกษา จะร่วมมือขับเคลื่อนงาน ดังนี้
1. ประกาศนโยบายเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ พร้อมทั้งให้มีการจัดสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดระบบหรือกิจกรรมการให้บริการคัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู หรือส่งต่อผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทุกรูปแบบตามความเหมาะสม
3. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร นิสิตนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่และปลอดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้ง ให้มีการสอดแทรกเนื้อหาหรือหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดการความรู้ งานวิจัย หรือนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาปลอดบุหรี่
4. ปฏิเสธการรับทุนอุปถัมภ์ หรือการสนับสนุนใด ๆ จากผู้ประกอบธุรกิจยาสูบและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบในรูปแบบต่าง ๆ สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งพร้อมจะให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่เพื่อคุณภาพชีวิตของนิสิตนักศึกษา และสิ่งแวดล้อมที่ดีในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 20 - 24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า ปี พ.ศ. 2564 มีเยาวชนที่สูบบุหรี่ จำนวนเกือบ 900,000 คน คิดเป็นอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 18.5 ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ เท่ากับร้อยละ 20.7 แม้ทิศทางการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยจะลดลง แต่เมื่อพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจยาสูบ จะพบว่าปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ ที่พยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน และยังมีการโฆษณาสื่อสารการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ในช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งยากต่อการควบคุม ดังนั้น หากขาดการดำเนินมาตรการควบคุมยาสูบในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ในอนาคตได้ และนั่นแสดงให้เห็นว่าสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองของนิสิต/นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรของสถานศึกษา ซึ่งนำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่อีกด้วย
โดย ศ. เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เป็นองค์กรที่มีสมาชิกประกอบด้วยบุคลากรหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันรณรงค์คุ้มครองสุขภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ ปัจจุบันทางสมาพันธ์ฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ปลอดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะได้จัดทำคู่มือเกณฑ์มาตรฐานพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาวะ และได้จัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มากมายให้แก่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ แม้กระทั่งหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ ระบบบริการเลิกยาสูบในสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ อีกทั้งมีการเยี่ยมชมสถานที่ การให้คำแนะนำในการจัดสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย และเทคนิคการทำให้นิสิต นักศึกษา บุคลากร ลดปริมาณการสูบลงอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.