สป.อว. ขับเคลื่อน “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” กำกับติดตามการผลิตและพัฒนาครูดี ศักยภาพสูง มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพ ต่อยอดพัฒนาบ้านเกิด เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม พัฒนาขีดความสามารถของประเทศ หนุนนำการวิจัยประเมินโครงการเชื่อมโยงสู่แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ต้นแบบ/ตัวอย่างของสถาบันผลิตครู คาดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการในระยะต่อไป
เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ร่วมกับสถาบันผลิตครูในโครงการ จัดการประชุมสัมมนาเพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำให้สถาบันฝ่ายผลิตทุกแห่ง บริหารจัดการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งทบทวนผลการดำเนินงานภาพรวมของโครงการในระยะเวลาที่ผ่านมา และนำเสนอความก้าวหน้าการประเมินผลโครงการ โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น นักวิจัย ผู้แทนนิสิตนักศึกษาครูในโครงการ ผู้แทนครูที่บรรจุในโครงการ ผู้แทนหน่วยงานผู้ใช้ครู จาก สพฐ. สอศ. กศน. และ กทม. เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน
รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามนโยบายของศาสตราจารย์พิเศษเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ อว. เป็นหน่วยงานที่พัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้และพลังปัญญา และตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องดำเนินการไปให้สอดคล้องกับแนวโน้มหลักของโลก (Global Megatrend) ทำให้การเรียนรู้ทำได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ในเวลาและสถานที่ใดก็ได้ ตามขีดความสามารถของผู้เรียน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในบทเรียน ในห้องเรียน หรือเฉพาะในวัยเรียนเท่านั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมผสานแนวคิดที่ว่าความสามารถของผู้เรียนทุกคนเจริญงอกงามหรือเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ด้วยความฝ่าฟันและเพียรพยายาม เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว (Growth Mindset) ดังนั้น ระบบการผลิตและพัฒนาครู จึงต้องคัดสรรผู้มีความสามารถสูงเข้ามาเป็นครู รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของครูอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนการสอนหนังสือให้ความรู้จาก “พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์” เป็น “ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้” (Learning Facilitator)
ศาสตราจารย์องอาจ นัยพัฒน์ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า หลักการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คือ ผลิตครูดี ครูเก่ง มีศักยภาพทางวิชาการและเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการครูที่มีคุณภาพ เข้าไปปฏิบัติงานในสถานศึกษาในภูมิลำเนาของตน มีความเข้าใจในบริบททางการศึกษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น นำไปสู่การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ จึงมีความคาดหวังว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญของโครงการนี้และได้รับการสนับสนุนให้สามารถขยายการดำเนินโครงการในระยะต่อไป
นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน กล่าวว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการแล้วรวม 8 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น 25,765 คน และบรรจุเข้ารับราชการแล้ว 6 รุ่น ตั้งแต่ปี 2559-2564 จำนวน 17,459 คน และอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน 2 รุ่น จำนวน 4,878 คน ซึ่งจะทยอยบรรจุเข้ารับราชการในปี 2565-2566
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมลวรรณ วีระธรรมโม หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า จากการวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการ โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะครูและสถานศึกษา ส่งผลต่อครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาผู้เรียนอย่างชัดเจน ต้องการพัฒนาท้องถิ่นมีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม การเป็นผู้นำทางวิชาการ มีจิตวิญญาณความเป็นครู การปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ฯลฯ
การประชุมสัมมนาในวันดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยของเครือข่ายสถาบันฝ่ายผลิตใน 5 ภูมิภาค เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานโครงการตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 3 ด้าน โดยสรุปในภาพรวม ได้แก่ 1) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู ได้ครูที่มีสมรรถนะและความรับผิดชอบสูงตามที่คาดหวัง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศได้ดีมากช่วยจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของครูและเรียนรู้อย่างมีความสุข และครูมีความเป็นผู้นำ ช่วยเหลือเพื่อนครูในโรงเรียน ออกแบบการศึกษา ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี 2) ด้านการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ได้ครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูของท้องถิ่น มีการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน และ 3) ด้านอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ได้ครูที่มีจิตอาสา ตอบโจทย์การช่วยเหลือชุมชน ส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยเข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สถาบันฝ่ายผลิตมีข้อเสนอแนะให้เน้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนโดยใช้เวลามากขึ้น การพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษการยืดหยุ่นเกณฑ์ภาษาอังกฤษในบางสาขาวิชา เช่น นาฏศิลป์ พลศึกษา ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาจัดทำโครงการในจังหวัดบ้านเกิด อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด ส่งเสริมการร่วมผลิตและพัฒนาครูในลักษณะเบญจภาคี ประกอบด้วย 1) สถาบันผลิตครู 2) เครือข่ายสถาบันผลิตครูในแต่ละภูมิภาค 3) ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4) สถานศึกษา และ 5) ชุมชน และเสนอให้มี Big Data ที่เป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนิสิตนักศึกษาครูในโครงการ สถานะของครูที่บรรจุในโครงการ ตลอดจนเชื่อมโยงโครงการผ่าน อว. และหน่วยงานผู้ใช้ครู ในการติดตามครูในโครงการ เพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน การยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ และถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.