เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ร่วมเปิดงานและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) จำนวน 18 หน่วยงานทั่วประเทศ หวังบ่มเพาะพร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนวิจัยและพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ประจำปี 2565 ณ ห้องอีเทอร์นิตี้บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า TED Fund ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเฉพาะแค่ด้านการเงินและธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการช่วยบ่มเพาะ เป็นที่ปรึกษา รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะผู้ประกอบการรายใหม่เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยผู้ให้คำปรึกษาและคอยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหม่คือ TED Fellow หรือที่เราเรียกกันว่าพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ พร้อมให้คำแนะนำ ชี้ช่องทางการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคที่อาจเจอระหว่างการทำธุรกิจ ดังนั้น TED Fellow จึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของ TED Fund ที่จะช่วยกันทำประโยชน์ให้ประเทศตอบสนองนโยบายด้านธุรกิจนวัตกรรม ทำให้ประเทศถูกพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทุนฯ ได้ดำเนินการสรรหาและจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) รายใหม่ จำนวน 18 หน่วยงาน แบ่งเป็น สถานศึกษา จำนวน 9 หน่วย บริษัทเอกชน จำนวน 7 หน่วย และหน่วยงานในกำกับภาครัฐ จำนวน 2 หน่วย เพื่อให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งทุนและสามารถใช้บริการเครือข่ายฯ ได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้มีศักยภาพ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยทางกองทุนฯ ได้กำหนดจัดสรรเงินสนับสนุนผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบสนับสนุนทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ 1. โปรแกรม IDEA (Ideation Incentive Program) ให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าวงเงิน 100,000 บาท แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก หรือบัณฑิตจบการศึกษาไม่เกิน 5 ปี เพื่อนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2. โปรแกรม POC (Proof of Concept) ให้ทุนสนับสนุนแบบสมทบบางส่วน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,500,000 บาท แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ต่อยอดงานวิจัยและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
.
ด้าน ดร.ชาญวิทย์ เผยว่า ภายหลังการจัดตั้งเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ในปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน กองทุนฯ ได้รับข้อเสนอยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) กว่า 2,000 ข้อเสนอทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมา TED Fund ได้ให้การสนับสนุนทุนโครงการที่ผ่านการคัดเลือกภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงาน TED Fellow ไปทั้งสิ้นกว่า 435 โครงการ รวมมูลค่าการสนับสนุนกว่า 293 ล้านบาท และจากการสนับสนุนดังกล่าว TED Fund ได้ทำการประเมินมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ผลปรากฎว่าเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมรวมตลอดระยะการดำเนินการได้กว่า 252 ล้านบาท ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาของการจัดพิธีลงนาม MOU ในครั้งนี้
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โทรศัพท์ 02 333 3700 ต่อ 4075 อีเมล tedinfo@mhesi.go.th และเว็บไซต์ www.tedfund.mhesi.go.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.