ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 (SOM 3) ในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักของกรอบความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเอเปค (APEC Policy Partnership on Science, Technology and Innovation - PPSTI) ได้จัดให้มีการประชุม APEC PPSTI ครั้งที่ 20 ภายใต้หัวข้อ “Empowering all people to participate in the new innovation era” โดยมี รศ. ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม PPSTI ครั้งที่ 20 และร่วมเป็น Vice-Chair ร่วมกับผู้แทนจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานหลักในการประชุม ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม Melia จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้มีผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมการประชุมทั้งในสถานที่จัดการประชุมและเข้าร่วมการประชุมในระบบออนไลน์ประมาณ 100 คน
ในการประชุม APEC PPSTI ครั้งที่ 20 สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้มีการหารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) ความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคภายใต้กรอบ PPSTI อันประกอบไปด้วย 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) Building Science Capacity 2) Promoting Enabling Environment for Innovation และ 3) Enhancing Regional Science and Technology Connectivity โดยมีหน่วยงานของประเทศไทยนำเสนอและรายงานความก้าวหน้าของโครงการ ดังนี้
- การจัดการขยะชุมชนตามแนวทาง BCG และการพัฒนาคลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับเพื่อส่งเสริมอาชีพและการแข่งขันทางการค้าขนาดกลางและขนาดย่อมในเอเปคโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
- การดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้ศูนย์คาดการเทคโนโลยีของเอเปค (APEC Center for Technology Foresight – CTF) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
- การสนับสนุนการพัฒนาและการดำเนินงานของนักวิจัยรุ่นใหม่ของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค (Inclusive Science Leadership Program for Early- and Mid-Career Researchers in APEC) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- APEC Biology-Circular-Green (BCG) Startups Regional Program on Sustainable Growth โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
2) การปรับปรุงแผนกลยุทธของกรอบความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนด้านนโยบาย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเน้นการสนับสนุนข้อเสนอโครงการที่เป็นโครงการระยะยาว มีการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง มีการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานจากหลายประเทศ รวมทั้ง เครือข่ายอื่นๆ นอกกรอบ PPSTI และต้องสอดคล้องกับกรอบแนวทางการดำเนินงานของ PPSTI และภาพรวมของเอเปค
3) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MMSTI) ของเอเปค ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะมีการเวียนสมาชิกเขตเศรษฐกิจเพื่อขอความเห็นชอบการจัดการประชุมและขอให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างเอกสารผลลัพธ์ของการจัดประชุมฯ ไม่เกินวันที่ 2 กันยายน 2565
4) การประกาศผลรางวัล ASPIRE Award Ceremony ประจำปี 2022 (2022 APEC Science Prize for Innovation, Research, and Education) ซึ่งรางวัล ASPIRE เป็นรางวัลประจำปีที่สหรัฐเสนอและมอบให้กับนักวิทยาศาสตร์ / นักวิจัยที่เป็นพลเมืองในเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี มีผลงานด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ และมีการทำวิจัยหรือตีพิมพ์บทความทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการในเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยมีรางวัลเป็นเงินจำนวน 25,000 เหรียญดอลลาร์ จำนวน 1 รางวัล และในปี 2022 นี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคได้เลือกหัวข้อ ”Innovation to Achieve Economic, Environmental, and Social Goals” เป็น Theme สำหรับ ASPIRE Prize โดยผู้ชนะและได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ Asst. Prof. Dr. Ren Jinzheng จาก The Hong Kong Polytechnic University เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
5) ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเป็นเข้าภาพจัดการประชุม APEC PPSTI ครั้งที่ 21 และ 22 ในปี 2566 (2023)
นอกจากนี้ ในโอกาสการประชุม APEC PPSTI ครั้งที่ 20 นี้ ยังได้มีการจัดประชุมหารือ ทวิภาคีระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทนไทยกับผู้แทนจากออสเตรเลีย โดย Mr. James Pitman ผู้จัดการฝ่าย South East Asia, Japan, Oceania & Multilateral Section, Department of Industry, Science and Resources ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ 1) Reinventing Universities 2) Thailand-Australia Strategic Partnership Plan of Action และ 3) Science funding opportunities with Australia
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะได้มีการประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการดำเนินการร่วมกันใน 3 หัวข้อดังกล่าวต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.