“ดร.พัชรินรุจา” ที่ปรึกษา รมว.อว. พร้อมด้วย นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย พบนักศึกษาต่างชาติ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมผลักดันการเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติแบบเต็มเวลา ทั้งในหลักสูตรภาษาไทย หลักสูตรภาษาอังกฤษ และหลักสูตรนานาชาติ ด้วยการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาต่างชาติ และสร้างช่องทางการเรียนภาษาไทยสู่สากล มุ่งวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก
้
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายอูก ซอร์พวน (H.E.Mr. OukSorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยได้นำคณะทำงานส่งเสริมกิจการนักศึกษาต่างชาติ และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ลงพื้นที่เยี่ยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เพื่อรับฟังนโยบายการบริหารจัดการนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของการดูแลนักศึกษาต่างชาติ โดยมี รศ.ดร.สุรัตน์ ทีรฆาภิบาล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารท่าพระจันทร์และวิเทศสัมพันธ์ อ.ทพญ.สิริภัทรา พัชนี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาต่างชาติ เข้าร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการดูแลนักศึกษาต่างชาติ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนักศึกษาต่างชาติศึกษาอยู่มากกว่า 700 คน จากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยมีนักศึกษาจากกัมพูชาเป็นจำนวนมากที่สุด ซึ่งนักศึกษาต่างชาติถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่นอกจากจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นนานาชาติแล้ว บุคลากรและนักศึกษาไทยยังได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่างหลากหลายจากความคิดของนักศึกษาต่างชาติ ผ่านการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันและกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านวิชาการในมหาวิทยาลัย
ดร.พัชรินรุจา ได้กล่าวชื่นชม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีกลยุทธ์สร้างความเป็นสากลของอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาโปรแกรมการสอนภาษาไทยออนไลน์สำหรับนักเรียนต่างชาติระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะในแถบจีนตอนใต้ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยเบื้องต้นแล้ว ให้มีความพร้อมที่จะสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรภาษาไทย ทั้งยังได้มีการพัฒนาการทดสอบความชำนาญภาษาไทย (Thai Proficiency Test) และมีหลักสูตรออนไลน์สำหรับเตรียมความพร้อมในการสอบ IELTS/TOEFL ให้กับนักศึกษาหลักสูตรนานาชาติอีกด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังสร้างความยืดหยุ่นในการรับนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา โดยนักศึกษาสามารถใช้คะแนนจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานของจีน (National College Entrance Examination หรือ Gaokao Exam) โดยไม่จำเป็นต้องสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ใช้วิธีการรับเข้าในลักษณะนี้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีความท้าทายเรื่อง การรับนักศึกษาจากเมียนมา เนื่องจากปัญหาการเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงร่วมกับ Pearson จัดตั้งศูนย์สอบ GED (General Educational Development) ภายในปี 2565 นี้ เพื่อจัดการสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายและทำให้นักศึกษาจากเมียนมาและประเทศอื่นๆ สามารถเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยได้
ดร.พัชรินรุจา ได้กล่าวเพิ่มเติมถึง กลยุทธ์ในการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ด้วยให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 50 ทุนในระดับมหาวิทยาลัย และมากกว่า 100 ทุนในระดับคณะ/ภาควิชา นอกจากนี้ ยังมีการจัด Roadshow เพื่อแนะนำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมในภูมิภาค CLMV รวมถึงจัดกิจกรรม Open house สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย
และในช่วงท้าย นายอูก ซอร์พวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ตลอดจนความใกล้ชิดทางสังคม วัฒนธรรมและการเป็นสมาชิกของกรอบความร่วมมือต่างๆ เช่น อาเซียน แม่โขง และเอเปค ในส่วนของความร่วมมือด้านการศึกษา เอกอัครราชทูตฯ มีความยินดีที่นักศึกษากัมพูชาได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีนักศึกษากัมพูชากว่า 2,000 คนได้รับทุนดังกล่าว ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ขอให้นักศึกษาได้ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาทักษะและความสามารถทั้งทางด้านวิชาการและด้านวิชาชีพต่อไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.