28 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ชั้น 5 อาคารอุดมศึกษา 1 สป.อว./ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินการ ว่าด้วยโครงการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีผู้ร่วมลงนามประกอบไปด้วย รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหารกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย คุณวิศิษฐ์ วิระยากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท NTT DATA Business Solutions (Thailand) Ltd. และ ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำหรับการลงนามในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ภาครัฐ เอกชน และอุดมศึกษา จะร่วมกัน ส่งเสริม สนับสนุน เสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นในการผลิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขานรับนโยบาย BCG Model เกิดการพัฒนากำลังคนและพร้อมจะปรับตัวกับความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวงหลักของประเทศในการพัฒนากำลังคนด้านการอุดมศึกษา โดยเล็งเห็นถึงแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะ ที่จำเป็นให้กับบุคลากร นิสิต/นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ให้มีความพร้อมที่จะเสริมสร้างสมรรถนะที่ตอบโจทย์ ภาคการผลิต ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะต้องสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น เพื่อช่วยดึงเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกิดจากกระบวนการวิจัยในมหาวิทยาลัยไปสร้างเป็นอาชีพ ไปสร้างรายได้ต่อไป และนอกจาก การสร้างบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตแล้ว มหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่จะต้องเร่งสร้างบุคลากรที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นและช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับบทบาทของการอุดมศึกษานี้ เป็นหนึ่งในมิติใหม่ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษาที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการอุดมศึกษา ภาควิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินงานในด้าน ต่างๆ สถาบันอุดมศึกษาล้วนมีบทบาทที่สำคัญ โดยที่แต่ละสถาบันสามารถที่จะดำเนินการตามจุดมุ่งหมาย จุดแข็งและตามความประสงค์ที่สอดคล้องกับการจัดกลุ่ม สถาบันอุดมศึกษา ทุกภารกิจที่ อว.ได้สนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ จะช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเกิดความเข้มแข็ง พร้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะช่วย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้
ดร.จันทร์เพ็ญ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยให้มีความทันสมัย มีการดำเนินการที่ตรงกับเป้าหมายพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องต่อความต้องการของประเทศ สามารถที่จะผลิตคนที่มีความรู้ ทักษะที่ตรงกับทักษะสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันเป็นการปรับให้มหาวิทยาลัยให้ทันสมัยสอดคล้องกับกาลเวลาอยู่ตลอด สำหรับการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม เป็นการแสดงให้เห็นทิศทางของแต่ละสถาบันว่าจะขับเคลื่อนภารกิจให้มีความเป็นเลิศในด้านใด ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถที่จะทุ่มเท ทรัพยากร ทุ่มเทความสนใจ รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลอย่างดีที่สุดในด้านนั้น ๆ ซึ่งในแต่ละด้านก็ตรงต่อความต้องการของประเทศ สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ได้ดำเนินการอยู่ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้โครงการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา (Re-inventing University) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยภารกิจสำคัญของการดำเนินงานนี้ มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรสำหรับ จัดการเรียนการสอน หลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพให้กับ บุคลากร อาทิ นักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ผู้ประกอบการ รวมถึง ผู้ที่สนใจทุกช่วงวัย ให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มกำลัง สามารถตอบโจทย์ภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องเหล่านี้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.