ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการกรรมการการอุดมศึกษา ได้ชี้แจงแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 - 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 - 2570 ต่อประชาคมอุดมศึกษา ณ โรงแรมใบหยกสกาย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 โดยแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ จัดทำตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่จะให้ความเห็นชอบต่อ รมว.อว. เพื่อเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบ ซึ่ง ครม. มีมติให้ความเห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนฯ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 - 5670 แล้วเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565
ปัจจุบันอุดมศึกษาได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก อาทิเช่น สังคมสูงวัย โควิด – 19 ธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อการอุดมศึกษา แผนด้านการอุดมศึกษาฯ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 ได้นำปัจจัยดังกล่าวมาวิเคราะห์ SWOT โดยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ของแผน ดังนี้ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา ปลูกฝังคุณธรรม เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” และได้กำหนด Mission ไว้ 4 ประการ คือ 1. ยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาเทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้ว 2. ถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมแก่ชุมชน สังคม และภาคอุตสาหกรรม 3. ขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย 4. การสร้างธรรมาภิบาลในอุดมศึกษา โดยเฉพาะประการที่ 4 ซึ่งต้องเน้นย้ำให้ความสำคัญและสร้างให้เกิดขึ้นดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่แผนด้านการอุดมศึกษาฯ ต้องการสร้างให้เกิดขึ้น ได้แก่ จากการผลิตบัณฑิตที่จบมาหางานทำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการหรือการทำงานใหม่ๆ จากการเรียน 4 ปี ไปเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจากการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาตามประเภทของสถาบันไปสู่การจัดกลุ่มคุณลักษณะตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 เป็นต้น
แผนด้านการอุดมศึกษาฯ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาและสมรรถนะกำลังคน และเสริมสร้างบุคลากรอุดมศึกษาคุณภาพสูง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา มุ่งสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยในระบบอุดมศึกษา การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยทั้งในและนอกประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดระบบอุดมศึกษาใหม่ ปฏิรูปข้อจำกัดและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุดมศึกษา การบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบฐานข้อมูล และการปฏิรูประบบการเงินอุดมศึกษา
โดยมี 10 กลไกขับเคลื่อนสำคัญ ประกอบด้วย 7 Flagship Policies เน้นการผลิตกำลังคนศักยภาพสูงตอบนโยบาย BCG อุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคต มุ่งสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับระบบเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม รองรับสังคมสูงวัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความเป็นเลิศทั้งด้านวิทยาศาสตร์และด้านสังคมศาสตร์ เป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญระดับนานาชาติ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในสถาบันอุดมศึกษา และ 3 Flagship Mechanisms ปฏิรูประบบการเงินและงบประมาณที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ส่งเสริมธรรมาภิบาล ยกระดับฐานข้อมูลระบบอุดมศึกษา
การบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดของแผนด้านการอุดมศึกษาฯ แม้ค่าเป้าหมายจะถูกกำหนดไว้ค่อนข้างสูง แต่เป็นบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อน เช่น ตัวชี้วัด Impact Ranking ของ The Times Higher Education ที่คาดว่าจะมีสถาบันอุดมศึกษาของไทยเข้าสู่การจัดอันดับมากขึ้น สำหรับ สป.อว. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนแล้ว เช่น ประกาศปรัชญาการอุดมศึกษา จัดทำ Skill Mapping และ Skill Transcript โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ การจัดทำ Higher education sandbox ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการศึกษา และการประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ผลักดันกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา กฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2564 เป็นต้น
แผน ววน. มีวิสัยทัศน์ “พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่าและคุณค่า ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ผลที่คาดว่าจะได้รับของแผน ววน. ได้แก่ ประเทศเป็นผู้นำเทคโนโลยีในระดับสากลในสาขาเป้าหมาย กำลังคนมีผลิตภาพและศักยภาพสูงขึ้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม งบลงทุนด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเทียบดัชนี Global Competitiveness Index ของ WEF ระหว่างประเทศไทยกับค่าเฉลี่ยประเทศรายได้สูง พบว่า ประเทศไทยมีค่าดัชนีโครงสร้างพื้นฐาน ดัชนีการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ดัชนีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และดัชนีนวัตกรรม ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้สูง ดังนั้น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณของรัฐในช่วง 3 ปีหลัง มีแนวโน้มการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดยงบประมาณที่จัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกเป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงมูลฐาน Fundamental Fund งบประมาณเพื่อการสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ Strategic Fund และงบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ Research Utilization เพื่อให้งานวิจัยถูกนำไปใช้เพื่อการพัฒนา แก้ปัญหาประเด็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
สามารถดาวน์โหลดแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 -2570 และเอกสารการประชุมได้ที่ shorturl.at/dwRTW
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.