เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม 13th SCiUS Forum ณ มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา โดย ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต้อนรับเข้าสู่จังหวัดพะเยา และ รองศาสตราจารย์สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวรายงานการจัดกิจกรรม
กิจกรรม 13th SCiUS Forum เป็นเวทีแสดงศักยภาพของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในโครงการ วมว. และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการที่สำคัญระหว่างนักเรียนกับคณาจารย์ นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประเมินผลงานของนักเรียน ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากคู่ศูนย์โรงเรียน-มหาวิทยาลัยในโครงการ วมว. ทั้ง 19 คู่ศูนย์ ผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัยจากหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งโรงเรียนจากประเทศญี่ปุ่น กว่า 1,300 คน และมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมกิจกรรมทั้งประเภท Oral presentation และ Poster presentation รวม 375 ผลงาน โดยในปีนี้มีผลงานของนักเรียนจากประเทศญี่ปุ่น 7 ผลงาน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ เช่น Idea pitching และ Popular vote ที่จะมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมทักษะด้านการวิจัยให้กับนักเรียนในโครงการ วมว.
ความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้คือมีการบรรยายพิเศษโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านจาก 4 สาขาความเชี่ยวชาญ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ สร้างแรงบันดานใจ และให้คำแนะนำในการเดินทางบนเส้นทางนักวิจัยและนักนวัตกรให้กับนักเรียน โดยประกอบด้วย Main Keynote speaker คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหาร CT Asia, CT Asia Robotics มาบรรยายในหัวข้อ “เข็มทิศวิจัยเพื่อเป้าหมายประเทศ” และ Keynote speaker ห้องบรรยายใน 4 Theme ได้แก่ Theme Digital and Robot โดย คุณเฉลิมพล ปุณโณทก หัวข้อ “เจ้าพ่อวงการหุ่นยนต์ไทยไปไกลถึงญี่ปุ่น” Theme Biodiversity โดย ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ บรรยายหัวข้อ “Non-human Primates and Human Primates: Biodiversity and Biotechnology” Theme Startup Godfather โดย คุณรัชวุฒิ พิชยาพันธ์ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง แอปพลิเคชัน Fixzy บรรยายหัวข้อ ธุรกิจที่ดีต้องมีนวัตกรรม : เหตุผลที่ต้องเริ่มธุรกิจตั้งแต่ยังเรียน และ Theme Talented Education โดย ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการกิตติคุณโรงเรียนกำเนิดวิทย์ บรรยายหัวข้อ “การพัฒนานักเรียนผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อเป็นกำลังสำคัญตามแผนพัฒนาประเทศ 20 ปี” นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับระหว่างผู้บริหารและคณาจารย์ รวมทั้งการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาโครงการ วมว.
รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวว่า “อาชีพนักวิจัยเป็นอาชีพที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นเรื่องของการตั้งคำถาม ความตื่นเต้นที่ได้ทดลอง ไขปริศนา และท้าทายสมมติฐาน ความสะใจที่ได้แก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความปิติที่ได้ค้นพบหรือเกือบค้นพบบางสิ่งบางอย่าง และสุดท้ายคือ ความสุขและความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ เส้นทางการวิจัยจึงต้องใช้ความทุ่มเท ความอุตสาหะ ความหลงใหล รวมไปถึงการพึงระลึกอยู่เสมอว่า ความไม่สำเร็จเป็นธรรมชาติของงานวิจัย ซึ่งเกิดขึ้นแม้กับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก ดังนั้น น้อง ๆ จึงควรหาแรงบันดานใจเพื่อกระตุ้นตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหา Role model ที่จะเป็นแบบอย่างของการทำงานวิจัยและการทำประโยชน์เพื่อสังคม หรือการพบปะเพื่อน ๆ ที่มีความชื่นชอบและความหลงใหลในสาขาเดียวกัน กิจกรรม SCiUS Forum จึงเป็นเวทีที่จะให้น้อง ๆ ในโครงการ วมว. แสดงศักยภาพที่ได้รับการบ่มเพาะจากคู่ศูนย์มาแล้ว 2 ปี และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและประสบการณ์จากอาจารย์ นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะมาให้คำแนะนำในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ กับน้อง ๆ กิจกรรม SCiUS Forum จึงไม่ใช่เวทีแข่งขัน ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้อง ๆ จะเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อต่อยอดสร้างความแตกต่างให้กับประเทศไทยในอนาคต”
กิจกรรม 13th SCiUS Forum มีคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาและหน่วยงานกว่า 70 คน ร่วมประเมินผลงานของนักเรียน ซึ่ง ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในฐานะกรรมการประเมินผลงานในสาขาสะเต็มและนวัตกรรม มีข้อสังเกตว่านักเรียนหลายกลุ่มตั้งใจและสนุกกับงานที่ทำ ได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้ทำโครงงานอย่างเต็มศักยภาพ อาจมีนักเรียนบางส่วนมีความเข้าใจต่องานที่ทำไม่ชัดเจน จึงอาจรู้สึกกังวลกับงานของตนเองอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมของสะเต็มและนวัตกรรม งานมีการพัฒนามากขึ้นทุกปี และมีหลายโครงงานเริ่มเข้าใกล้การพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือการนำไปใช้งานจริง
และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ได้เป็นประธานในพิธีประกาศผลการประเมินและมอบรางวัล โดยในปีนี้มีผลงานของนักเรียนในโครงการ วมว. ที่ได้รับการประเมินผ่านเกณฑ์รับเหรียญรางวัลจำนวน 245 ผลงาน แบ่งเป็นประเภท Oral presentation จำนวน 213 โครงงาน และประเภท Poster presentation จำนวน 32 โครงงาน นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ได้รับรางวัล Idea pitching 3 ผลงาน และรางวัล Popular vote 14 ผลงาน ซึ่งทุกผลงานต่างได้รับข้อเสนอแนะในการพัฒนาผลงานและการพัฒนาทักษะการทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้นหรือมุ่งเป้าสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยกิจกรรม SCiUS Forum ในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ วมว. มีความมุ่งหวังว่ากิจกรรม SCiUS Forum จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีส่วนช่วยผลักดันและยกระดับโครงการ วมว. ให้มุ่งสู่สากลในอนาคต
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.