ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) และผู้บริหารกองทุนฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามความสำเร็จของผู้ประกอบการโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ซึ่ง TED Fund ให้การสนับสนุนการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ และการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำซ้ำ และขยายตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
กระทรวง อว. และ TED Fund ลงพื้นที่ ณ จักราวุธฟาร์ม เพื่อติดตามความสำเร็จของโครงการแรก คือ โครงการ“NaNo-k ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันเพื่อส่งเสริมการหดตัวของแผลในปศุสัตว์” ของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด ดูแลและบ่มเพาะโครงการโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันฯ นั้น ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินปศุสัตว์ในอุตสาหกรรมเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมถึง 18,850 ครัวเรือน และมีจำนวนโคนมอยู่กว่า 632,187 ตัว และมีปริมาณโคเนื้อถึงกว่า 5 ล้านตัว ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ประมาณ 800,000 ล้านบาท ต่อมาปี พ.ศ. 2564 ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคลัมปีสกินโดยกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ รวมทั้งการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย โดยมีอัตราการติดโรคสูงถึง 100% ทั้งสองโรคนี้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังในลักษณะหลุมลึกอย่างรุนแรง โรคลัมปีสกินมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 5–45% ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นตัวจากโรคทั้งสองโรคขึ้นอยู่กับการหายของแผล ทำให้การเจริญเติบโตลดลง ปริมาณน้ำนมลดลง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200-1,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการควบคุมและการรักษาโรคที่เหมาะสมอาจลดความสูญเสียลงเหลือเพียงแค่ 50% เท่านั้น หรือไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี
การรักษาโรคลัมปีสกินและโรคปากเท้าเปื่อยในปศุสัตว์นั้น มักมุ่งเน้นไปที่การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน เจนเชี่ยนไวโอเล็ต และ แบคตาซิน ที่มีราคาถูกเท่านั้น โดยไม่มีการใช้ยาเรียกเนื้อชนิดต่างๆ ซึ่งมีราคาแพง จึงทำให้การรักษาแผลในโรคทั้งสองใช้เวลานานมากกว่าปกติ นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์และไม่สามารถบริโภคได้ จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้รักษาแผลในปากทาง ทีมวิจัยของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด จึงได้นำเสนอ NaNo-K: ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชัน กับทาง TED Fund โดยผลิตภัณฑ์ได้ประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตครีมรักษาแผลในปศุสัตว์ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน ตลอดจนการใช้สารห่อหุ้มสารสำคัญด้วย cyclodextrin เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของสารสกัดขมิ้นโดยเพิ่มการละลายและเพิ่มความคงตัวของสารออกฤทธิ์โดยการห่อหุ้มทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ดียิ่งขึ้น สำหรับการนำมารักษาแผลทั้งสองชนิดในปศุสัตว์ และสามารถเร่งการหายของแผลโดยการฆ่าเชื้อและเร่งสร้างเนื้อเยื่อ โดยมีราคาถูกกว่ายาสมานแผลที่มีขายในท้องตลาดเพื่อให้นำมาใช้ในทางปศุสัตว์
ต่อมาคณะผู้บริหารฯ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อติดตามโครงการพรี-ไอออนิคส์ (Pre-ionics) : ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยไฮโดรอินทรีย์แม่นยำ” ของบริษัททิวา อินโนเวท จำกัด โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ดูแลในการสร้างนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบใหม่ ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์สามารถปรับสูตร N-P-K ในระดับโมเลกุลได้อย่างแม่นยำตามความต้องการของพืช อย่างที่ปุ๋ยอินทรีย์ไม่เคยมีมาก่อน โดยแนวคิดการสร้างนวัตกรรมนี้อยู่บนพื้นฐานของ BCG Model ในส่วนของ Circular Economy เลือกใช้วัตถุดิบจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร และอุตสาหกรรมประมง เช่น เหง้ามันสำประหลัง มะนาวตกเกรด กระดูกปลาทูน่า กากถั่วเหลือง เป็นต้น นำมาผลิตด้วยเทคโนโลยีการสกัด และคัดแยกเฉพาะโมเลกุลไอออนของธาตุอาหารพืช โดยไม่ต้องรอการย่อยสลายจากจุลินทรีย์อีกต่อไป ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบใหม่นี้ทำให้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เร็วกว่าการหมักแบบเดิมมากถึง 10 เท่า อีกทั้ง น้ำปุ๋ยที่ได้ยังไร้กลิ่นเหม็น ซึ่ง พรี-ไอออนิคส์ บางสูตรกลับมีกลิ่นหอมอีกด้วย จึงทำให้พรี-ไอออนิคส์ ใช้งานได้ง่าย เหมาะสมต่อการปลูกพืชอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ได้ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งระบบไฮโดรโปนิกส์ และการปลูกพืชโดยใช้ดิน หรือวัสดุเพาะปลูกทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วไป
สำหรับผลิตภัณฑ์พรี-ไอออนิคส์ได้ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ในโปรแกรม“การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program) ประจำปี 2563 ทำให้ได้แนวคิดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจจากงานวิจัยนี้ และต่อยอดไปยังการได้รับสนับสนุนทุนอีกหนึ่งทุน คือโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup ) ในโปรแกรม Proof of Concept (POC) ประจำปี 2564 จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดจริงได้อย่างมีศักยภาพ จนกระทั่งเกิดการวางจำหน่ายในท้องตลาดจริง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.