รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในสังกัด อว. ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Lancang-Mekong Cooperation Innovation Corridor Development เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมี Department of International Cooperation, Ministry of Science and Technology (MOST) และ Yunnan Province Science and Technology Department สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ
การเดินทางไปราชการ ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของ อว. ในการมีส่วนร่วมและบทบาทนำด้านการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ตลอดจนเป็นโอกาสอันดีต่อการเจรจาและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ผ่านการแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานที่สำคัญของฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงการหารือของผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะในประเด็นด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การขจัดความยากจน การสาธารณสุข เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียว และนวัตกรรมและผู้ประกอบการ โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Dai Gang, Director General, Department of International Cooperation, Ministry of Science and Technology ในการให้การต้อนรับและหารือกับผู้แทนจากประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
โดย รองปลัดกระทรวง อว. ได้เน้นย้ำในที่ประชุมฯ ว่า อว. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างอย่างเต็มกำลังเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงการสร้าง R&D hub เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดนและเส้นทางการค้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ของการประชุมหารือในครั้งนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน อีกทั้ง ยังเป็นการวางรากฐานการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมร่วมกันของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
“กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน สร้างความเจริญเติบโตและลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิก โดยมีกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือ ตั้งแต่การริเริ่มก่อตั้งกองทุนฯ มีโครงการของ อว. ได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 34 โครงการ โดยหากโครงการต่าง ๆ เหล่านี้จะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของ อว. ที่ได้มีส่วนร่วมในการยกระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวง อว.และคณะยังได้รับเกียรติให้เข้าร่วมการประชุม 9th East Asia Summit on New Energy Forum ภายใต้หัวข้อ “Building Open Cooperative Mechanism for Green Economy Recovery” ซึ่งตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของฝ่ายจีนที่ต้องการจะสานต่อและยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศสมาชิก รวมไปถึงการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.