เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการยุวชนอาสา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีคณะกรรมการบริหารโครงการยุวชนอาสา นำโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมทั้งผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 350 คน จาก 30 สถาบัน เข้าร่วม ที่ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารอุดมศึกษา 1
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา ถือเป็นโครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบอุดมศึกษาไทย โดยเน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎีที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์และทำงานจริงในพื้นที่ น้องๆ นักศึกษาก็จะมีโอกาสในการพัฒนาและสร้างทักษะใหม่ (Upskill- Reskill) ซึ่งเมื่อมองในเรื่องของการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน มหาวิทยาลัยควรจะต้องให้ความสำคัญในการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากขึ้น และควรจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน สิ่งที่ อว. ผลักดันอยู่ในขณะนี้ คือ การสร้างกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ที่จะช่วยพัฒนากำลังคนของประเทศให้ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม/ชุมชน ผ่านกลไกหลักสูตรแซนด์บอกส์, GenNX model และโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นต้น และ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องมีกลไกการพัฒนากำลังคนของประเทศให้ครอบคลุมความต้องการของคนแต่ละกลุ่ม โดยจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการทำให้การศึกษามีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เข้าถึงคนแต่ละกลุ่มได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีต่อไปอาจจะมีการพิจารณาปรับรูปแบบโครงการยุวชนอาสาให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการทำงานที่เน้นเป็นการสร้างจุดแข็งให้กับสถาบันอุดมศึกษาในการทำงานเชิงพื้นที่ รวมไปถึงแนวทางที่ทำให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่การจัดอันดับ SDGs หรือความยั่งยืนในด้านที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมกับการได้รับการจัดอันดับในระดับโลกที่สูงขึ้นด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.