เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมงานแถลงข่าวโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนจากวัตถุนอกระบบสุริยะ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนหน่วยงานภาคีความร่วมมือวิจัย อันได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวง อว.
สำหรับโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนจากวัตถุนอกระบบสุริยะ นิวทริโนเป็นอนุภาคชนิดหนึ่งซึ่งไร้ประจุและเกือบไร้มวลจนสามารถเดินทางได้เร็วเกือบเท่าแสง นิว- ทริโนทำอันตกิริยากับอนุภาคอื่นน้อยมากเพราะไร้ประจุ มันจึงสามารถเดินทางอย่างทะลุทะลวงจากแหล่งกำเนิดมายังโลกเราได้โดยตรง เดิมนักวิทยาศาสตร์อาศัยคลื่นแสงและคลื่นวิทยุเป็นพาหะนำข้อมูลจากวัตถุในท้องฟ้ามายังโลกเรา แต่ปัจจุบันนิวทริโนได้กลายเป็นพาหะใหม่ในการนำข้อมูลจากวัตถุดังกล่าวทำให้เกิด “ดาราศาสตร์นิวทริโน” โดย คณะกรรมการความร่วมมือการวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ประเทศไทย (Thai-IceCube) ม.เชียงใหม่ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หน่วยงานในต่างประเทศ ได้แก่ สถานีตรวจวัดนิวทริโนนิวทริโนไอซ์คิวบ์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันเป็นผู้บริหาร
ในปี พ.ศ. 2566 นี้ โครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริฯ จะส่งนักวิจัยไทยร่วมเดินทาง 2 คนไปทำงานที่แอนตาร์กติก คือ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง ม.มหิดล โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศในการก้าวเข้าสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแนวหน้า ยกระดับประเทศ ซึ่งจะนำประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้ในอนาคต
คณะนักวิจัยรวมทั้งหน่วยงานร่วมโครงการทั้งหลายรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงสนับสนุนการดำเนินงานผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นประธาน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.