9 ธันวาคม 2567 จากการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีชื่อเสียงในระดับชาติและนานาชาติได้ทำประโยชน์ในด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโดยใช้พื้นฐานวิชาระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ระบบสุขภาพของประเทศไทยอยู่ในระดับ 1 ใน 5 ของโลก คณะกรรมการฯ มีมติเสนอชื่อนายแพทย์ รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม อดีตศิษย์เก่าแพทย์ประจำบ้าน Inter FETP สาขาระบาดวิทยาภาคสนาม ภายใต้ความร่วมมือ ของกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และ US CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ พร้อมเสนอชื่อคณะกรรมการ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง อุทิศตนให้กับงานระบาดวิทยาภาคสนามมาตลอดชีวิต ประกอบด้วย
1. นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมูลนิธิ
2. ดร.นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ
3. นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่ง กรรมการ
4. นพ. ชนินันท์ สนธิไชย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทยสหรัฐเพื่อการป้องกันควบคุมโรค ดำรงตำแหน่ง กรรมการ
5. พ.อ.ดร.นพ. ภพกฤต ภพธรอังกูร ดำรงตำแหน่งกรรมการ
6. คุณเดช บัวคลี่ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการดำรงตำแหน่ง กรรมการ
7. นพ. เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนา ระบบสุขภาพ (สำนัก 7) สสส. ดำรงตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิก
8. นายวิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการ
มูลนิธิสุชาติ เจตนเสน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2545 โดยเจตนารมย์ของ เหล่าบรรดาลูกศิษย์และบุคคลที่เคารพรัก อาจารย์สุชาติ เจตนเสน ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ระบาดวิทยาภาคสนามท่านแรกของประเทศ ที่อุทิศตน มุ่งมั่นพัฒนางานด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เพื่อค้นหาความจริง เสนอแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรมตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
อาจารย์สุชาติ เจตนเสน เป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์ให้ความเคารพรัก ด้วยความเมตตาและรักลูกศิษย์ ท่านตั้งใจอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์ทุกคนเป็นคนดี เป็นแพทย์ระบาดวิทยา อุทิศตนเพื่อให้ลูกศิษย์ได้ทำงานเพื่อเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติ ให้ประชาชนมีสุขภาพดี สามารถพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความก้าวหน้า ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโรคระบาดที่สำคัญได้เป็นอย่างดี เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก โควิด-19 โรคไม่ติดต่อ และอุบัติเหตุจราจร รวมถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้รับความชื่นชมและยอมรับจากระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก สำหรับประวัติของอาจารย์สุชาติ เจตนเสน ปรากฎ ตาม Link นี้ (ประวัติสุชาติ เจตนเสน https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1178320210917060626.pdf)
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสุชาติเจตนเสน กล่าวว่า ผมและคณะกรรมการทุกท่านมีปณิธานอุดมการณ์ร่วมกัน ที่จะทำงานอุทิศตนเพื่อประเทศชาติและประชาชนในด้านสาธารณสุข ด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีแด่ อาจารย์สุชาติ เจตนาเสน การบริหารจัดการมูลนิธิ จะดำเนินการด้วยระบบธรรมาภิบาล มีความทันสมัยคล่องตัว และสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับพี่น้องประชาชน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ระบบสาธารณสุขมีความมั่นคงพึ่งตนเองได้
สำหรับประวัตินายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ประธานมูลนิธิสุชาติ เจตนเสน…. นายแพทย์รุ่งเรือง เป็นบุตรนายวิญญูและนางอุไรวรรณ กิจผาติ สมรสกับ ผศ.ดร.ภญ.วรวรรณ กิจผาติ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบุตรสาว 1 คน ได้แก่ แพทย์หญิงศศิชา กิจผาติ แพทย์ประจำบ้าน สาขาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นายแพทย์รุ่งเรือง เข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ได้รับรางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่น และรางวัลนักศึกษาตัวอย่างด้านบำเพ็ญประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ.2537 ได้เข้ารับราชการตำรวจที่งานพิสูจน์หลักฐานฯ สถาบันนิติเวชวิทยา กรมตํารวจ ในตำแหน่ง นพ.โท (ยศ ร้อยตำรวจเอก นพ.โท สารวัตร พิสูจน์หลักฐานฯ)
ในปี พ.ศ. 2537-2540 ได้ปฏิบัติราชการตำรวจด้วยความอุทิศตน ทุ่มเท คุณหมอได้ทำคดีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ สามารถพิสูจน์หลักฐานทางการแพทย์ ส่งผลให้ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและได้รับการลงโทษประหารชีวิต เช่น คดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 5 ขวบ คดีฆาตกรต่อเนื่องในหลายประเทศ แต่การรวบรวมพยานหลักฐานในประเทศไทยส่งผลให้ศาลอาญาประเทศสิงคโปร์ตัดสินประหารชีวิตฆาตกร ได้รับรางวัลตำรวจดีเด่นในการปฏิบัติราชการ จากสถานทูตแคนาดา จากกรมตํารวจ ประเทศสิงคโปร์ และตำแหน่งพยานแพทย์ผู้เชี่ยวชาญฯ ศาลอาญา ประเทศสิงคโปร์ ปี พ.ศ.2540 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP)
คุณหมอได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่นจากการปฏิบัติราชการ รางวัล “คนดีศรีกรม” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีผลงานสำคัญการสอบสวนโรค และผ่าพิสูจน์เก็บหลักฐานศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกที่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นรายแรกของโลก ข้อมูลการพิสูจน์ส่งผลให้ รัฐบาลในขณะนั้นปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการในการควบคุมไข้หวัดนกอย่างเข้มข้นเพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ จนประสบความสําเร็จ
ได้รับรางวัลพัฒนาระบบราชการและคุณภาพการให้บริการประชาชนระดับชาติ ในเรื่องการพัฒนาระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคติดต่ออุบัติใหม่ทางห้องปฏิบัติการ จากสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งผลงานเป็นส่วนสําคัญส่งผลให้เกิดความสําเร็จในการ ควบคุมการะบาดของโรคไข้หวัดนกขณะนั้น (ปี พ.ศ.2546 ถึง 2552) และพัฒนาระบบเป็นจนเป็นต้นแบบระบบห้องปฏิบัติการในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในปัจจุบัน ได้รับยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ
ปี พ.ศ.2552-2561 ได้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารระดับผู้อํานวยการในหน่วยงาน สําคัญของกรมควบคุมโรค อาทิ เช่น ผู้อํานวยการสํานักโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผู้อำนวยการสํานักโรคติดต่อทั่วไป ผู้อำนวยการกองป้องกันควบคุมโรคด้วยวัคซีน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
ปี พ.ศ.2562-2566 ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ (1) โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (2) หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข (3) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข และ (4) รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2567 ผลงานโดดเด่นสําคัญ เช่น
– การจัดทําและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ โรคเมอร์ส โรคโควิด 19 ในปัจจุบัน
– การจัดทําและขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์ ทศวรรษกําจัดพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งผลให้การแก้ไขและลดปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีอย่างเป็นรูปธรรม
– การพัฒนาระบบด่านควบคุมโรคติดต่อ 68 แห่งทั่วประเทศ
– การพัฒนาและขับเคลื่อนในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ปี พ.ศ.2556 ถึง 2559 ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการยอมรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การบรรจุวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรต้าไวรัสในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
– เป็นผู้รับผิดชอบ “โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 22 ล้านเข็มเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคคอตีบประสพความสำเร็จ ไม่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
– ได้ปฏิบัติราชการเพื่อสนับสนุนโครงการพระราชดําริฯ การควบคุมโรคในถิ่นทุรกันดาร
ปี พ.ศ.2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ระดับ 10) ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นและปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบหน่วยงานสำคัญ เช่น สํานักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต IHPP, HITAP
– ดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุขซึ่งได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและประชาชน โดยเฉพาะการออกมาชี้แจงตอบโต้สถานการณ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นโฆษกกระทรวงสาธารณสุขที่ดีสุดท่านหนึ่ง
– รับผิดชอบศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการพัฒนาระบบในการดูแลประชาชน และทำหน้าที่เจรจา ควบคุมสถานการณ์การประท้วง การรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งจากผู้มาร้องทุกข์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
– ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ MIU : MOPH Intelligence Unit กระทรวงสาธารณสุข ในจัดทําข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการ ต่อผู้บริหารระดับสูง มีผลงานสําคัญในการรับมือสถานการณ์ และควบคุมโรคโควิด 19 เช่น
– การปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ พัฒนาต้นแบบหน่วยปฏิบัติการเชิงรุก CCRT (Covid 19 Comprehensive Response Team) ทั้งการดูแลผู้ป่วยและส่งต่อ การให้วัคซีนโควิดเชิงรุกในพื้นที่เป็นครั้งแรกของประเทศ
– การสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในระดับพื้นที่ต้นแบบ ส่งผลให้เกิด ความสําเร็จในการควบคุมสถานการณ์ เริ่มจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ปี พ.ศ.2567 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้บริหาร ที่มีภาวะผู้นำและทักษะการบริหารที่สูงมาก ใช้เวลาเพียง 8 เดือน ได้พัฒนาปฏิรูปองค์กร กรมวิทยาศาสตร์บริการ จนมีผลงานโดดเด่นของกระทรวง อว. เช่น การขยายขยายการบริการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” สร้างความร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และสามารถ เปิด ศูนย์ให้คำปรึกษาและบริการร่วมอย. & อว. ประชาชนสามารถรับบริการได้ที่กระทรวง อว. เช่นเดียวกับการไปรับบริการที่ อย. จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ DSS เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ และลงปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการนำวิทยาศาสตร์เพื่อมาค้นหาคำตอบจากปัญหาต่างๆ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือมาตรการเพื่อป้องกันแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ยังมีผลงานโดดเด่น ในการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน เช่น ขับเคลื่อนโครงการน้ำดื่มน้ำใช้ปลอดภัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การปฏิรูประบบราชการให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นครั้งแรกในรอบ 133 ปี ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย เช่น การจัดตั้งสถาบันระดับชาติ 9 สถาบัน การเปิดสำนักวิทยวิทยาศาสตร์บริการเขต และศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการไทย ให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงเน้นการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน นำปัญหากลับมาวิเคราะห์แก้ไขด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม นพ.รุ่งเรือง เป็นผู้มีจิตใจเมตตา เป็นผู้นำที่ดูแลบุคลากรทุกระดับ จนได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยงานที่เป็นผู้บริหาร... และล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2567 ได้รับรางวัลพ่อตัวอย่างแห่งชาติ
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.