(8 พฤษภาคม 2568) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อาคาร สวทช. โยธี ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) แถลงข่าวความร่วมมือในการสนับสนุนเยาวชนไทยภายใต้โครงการ การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) ให้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงศักยภาพในเวทีการแข่งขันและประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับนานาชาติชั้นนำ 3 เวที ได้แก่ Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 (Regeneron ISEF 2025), Genius Olympiad 2025 และ The 50th International Exhibition of Inventions Geneva โดยธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ความร่วมมือนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเปิดโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพให้เยาวชนไทยให้ก้าวสู่เวทีการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระดับโลกเตรียมความพร้อมสู่การเป็นบุคลากรคุณภาพสูงและเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ ผ่านการส่งเสริมให้เยาวชนมีเวทีในการแข่งขันและแสดงศักยภาพ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับนักวิจัยและนวัตกรรุ่นใหม่ในอนาคต การเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการปลูกฝังแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่
“สวทช. ได้ริเริ่มโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีแห่งโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และบูรณาการองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หัวใจสำคัญของโครงการ คือ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาโครงงานในสาขาที่ตนเองสนใจอย่างแท้จริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่อาจต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการนำ วทน. มาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า "วช. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือในการสนับสนุนการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่จัดโดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานภูมิภาค นั้น เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีศักยภาพ พร้อมผลักดันให้เยาวชนไทยสามารถแข่งขันในระดับสากล และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต"
ด้านคุณวรวัจน์ สุวคนธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง บทบาทของ SCB ในการสนับสนุนโครงการ YSC อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ว่า "SCB มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเยาวชนไทย ผ่านการเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาศักยภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ธนาคารเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนคือการพัฒนาอนาคตของชาติ และเวทีการแข่งขันที่ สวทช. และ วช. ได้ผลักดันให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในวันนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังเปิดมุมมองและสร้างเครือข่ายระดับสากล เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างรอบด้านของเยาวชนไทย"
สำหรับโครงการ YSC ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 27 ในปีนี้ มีโครงงานส่งเข้าประกวดถึง 2,429 โครงงาน จากนักเรียน 6,442 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1,555 คน ทั่วประเทศ เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นและจะได้รับโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2025 ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10 – 20 พฤษภาคม 2568 ได้แก่
1. BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก – โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์
2. การสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินที่สกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาวซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด - โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย
3. การพัฒนาอุปกรณ์เชิงสีสำหรับการตรวจวัดคอร์ติซอลในน้ำลายโดยใช้อนุภาคทองคำนาโนดัดแปรด้วยซิสเทอีน – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
4. การพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของ พลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
5. ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงมุมในเขื่อนกันคลื่นแยกต่อลักษณะของชายฝั่ง–โรงเรียนกำเนิดวิทย์
6. การศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ – โรงเรียนกำเนิดวิทย์
นอกจากนี้ โครงงานการศึกษาผลการใช้ไมโครแคปซูลในฟิล์มหลังคาดูดซับรังสียูวี จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ซึ่งเป็นผลงานจาก YSC 2025 ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน Genius Olympiad 2025 ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2568 ณ Rochester Institute of Technology (RIT), เมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย
ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวฯ ยังมีตัวแทนเยาวชน YSC2024 นายปัณณธร ขุนโหร นายปีระกา พวงทอง และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายวิเชียร ดอนเเรม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ซึ่งได้รับรางวัลจาก The 50th International Exhibition of Inventions Geneva เมื่อเดือนเมษายน 2568 ณ Palexo Geneva, Switzerland จาก โครงการ “การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อตรวจหาเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (M. Tuberculosis) จากการตรวจเสมหะด้วยวิธี Acid-Fast Bacillus (AFB) ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และเป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการแข่งขัน โดยเยาวชนเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนรุ่นน้อง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทย ควบคู่ไปกับผลสัมฤทธิ์ของโครงการ YSC ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรในการสร้างและพัฒนาเยาวชนอันเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
ความร่วมมือระหว่าง สวทช. วช. และ SCB ในครั้งนี้ เป็นการยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างกำลังคนคุณภาพสูง อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.