จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนไทย สู่การประสบความสำเร็จครั้งสำคัญในการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ในโครงการ "อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์จากส่วนผสมยางธรรมชาติเพื่อลดเสียงและการสั่นสะเทือนบนทางรถไฟ" (Eco-Smart Noise and Vibration Absorption Block for Railway) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด (AUT) และได้รับการสนับสนุนทุนจาก กระทรวง อว. โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้พิสูจน์ประสิทธิภาพและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการคว้าสัญญาส่งออกสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ 400,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงและการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการขยายตัวของระบบขนส่งทางราง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีจุดเด่นคือการพัฒนาแท่งสลายพลังงาน (Rail Damper) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชาญฉลาด
นวัตกรรม “อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์” ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการพัฒนาแดมเปอร์สำหรับทางรถไฟโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ (ยางพารา) และวัสดุรีไซเคิล (เศษยางรถยนต์เก่า) เป็นส่วนผสมหลักแทนที่วัสดุสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% เพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย พร้อมกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถไฟ ด้วยการลดเสียงดังที่ต้นเหตุ ได้กว่า 3 - 7 เดซิเบล และสามารถเพิ่มสมรรถนะของทางรถไฟ ลดวงรอบการซ่อมบำรุงจากการเจียร์ราง ติดตั้งง่าย ไม่ต้องบำรุงรักษา
จากผลการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการที่ สจล. ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากลในประเทศเยอรมนี รวมถึงการทดสอบติดตั้งใช้งานจริงบนทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) และสายสีแดง (SRT) นานกว่า 18 เดือน ยืนยันว่าแดมเปอร์สามารถลดเสียงและการสั่นสะเทือนได้จริง 3-7 เดซิเบล โดยผลการทดสอบล่าสุดบนทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีอุดมสุข-ปุณณวิถี สามารถลดระดับเสียงได้ถึง 4.3 เดซิเบล และบนรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงสถานีตลิ่งชัน-บางบำหรุ ลดลง 2.5 เดซิเบล ซึ่งเป็นการลดลงที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้โครงการยังได้พัฒนาระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) ที่สามารถติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดการสั่นสะเทือน เสียง อุณหภูมิ และวัดน้ำหนักรถขณะวิ่ง (Weight in Motion - WIM) บนรางรถไฟได้ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปวิเคราะห์ด้วย AI และ IoT เพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และวางแผนบำรุงรักษารางและตัวรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการนี้ บพข. มีบทบาทสำคัญในการเป็น "สะพานเชื่อม" ระหว่างภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โดยให้การสนับสนุนทุนวิจัยกว่า 11.5 ล้านบาท ร่วมกับภาคเอกชนที่สนับสนุนทุนวิจัยทั้งในรูปแบบ In-Cash และ In-Kind เพื่อพัฒนาโครงการตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ (TRL 4) สู่การสร้างต้นแบบที่ทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง (TRL 8) ช่วยลดความเสี่ยงด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้กับภาคเอกชน จึงนับเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือ สู่การค้าสากล
บริษัท AUT ซึ่งเดิมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนแดมเปอร์ให้กับเจ้าของเทคโนโลยีต่างชาติ ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัย TRL 8 มาลงทุนและพัฒนาต่อยอดด้วยตนเอง เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานสากลที่เข้มงวด จนยกระดับสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยี (TRL 9) และประสบความสำเร็จในการชนะการประมูลสัญญาผลิตและส่งออก "อีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์" จำนวนกว่า 400,000 ชิ้น มูลค่า 200 ล้านบาท ให้กับการรถไฟเนเธอร์แลนด์ภายในปี 2568 (2025) ความสำเร็จนี้เป็นการยกระดับ AUT จากผู้ผลิตระดับ Tier 3 สู่ Tier 1
ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา หัวหน้าโครงการวิจัย จาก สจล. กล่าวว่า "แรงบันดาลใจคือการนำวัสดุในประเทศอย่างยางพาราและเศษยาง มาสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างมูลค่าเพิ่มรวมถึงการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่แข่งขันได้ในตลาดโลก ความยากคือต้องออกแบบปรับจูนแดมเปอร์ให้เข้ากับทางรถไฟที่มีความแตกต่างกันและต้องผ่านมาตรฐานในระดับสากลและการต่อยอดจาก TRL8 สู่ Commercialize TRL 9 ยังต้องวิจัยต่อเนื่องต่ออีกเพื่อให้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้จริง ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ AUT ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการทดสอบจริง และการสนับสนุนจาก บพข. คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานวิจัยไม่หยุดแค่ในห้องทดลอง แต่สามารถนำไปใช้งานและแข่งขันได้จริง"
นายธรณิน ณ เชียงตุง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.ยู.ที. จำกัด กล่าวเสริม "การร่วมลงทุนในโครงการนี้คือโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ การสนับสนุนจาก บพข. และความร่วมมือกับ สจล. ช่วยลดความเสี่ยงและทำให้เราเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ จนสามารถเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตระดับ Tier 3 สู่ผู้ผลิตระดับ Tier 1 จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง ขยายตลาดสู่ระดับสากลได้สำเร็จ กระบวนการวิจัยทำให้บริษัทได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จนเข้าใจถึงรากฐานของผลิตภัณฑ์จากเดิมที่ทำได้เพียงรับจ้างผลิตตตามเทคโนโลยีจากต่างประเทศเท่านั้น จนสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานแข่งขันได้ในระดับสากล ความสำเร็จในการส่งออกไปเนเธอร์แลนด์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังมีแผนขยายตลาดไปยังยุโรป ออสเตรเลีย และในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 250-300 ล้านบาท"
รศ.ดร.วัชรพล ชยประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านแผนงานระบบโลจิสติกส์ ระบบราง ยานยนต์แห่งอนาคต และดิจิทัล บพข. เน้นย้ำว่า "โครงการอีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของนโยบาย บพข. และกระทรวง อว. ที่มุ่งสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีเชิงลึกและ BCG ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เราทำหน้าที่เป็น ‘สะพานเชื่อม’ นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จริง ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เข้าประเทศและเพิ่มมูลค่าให้ยางพาราไทย แต่ยังช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางไทยในเวทีโลก"
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานในประเทศซึ่งคาดว่าจะมีการจัดซื้อในอนาคตอันใกล้นี้ โดยตลาดในประเทศจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และบริษัท เอ ยู ที จำกัด สำหรับตลาดในต่างประเทศก็ได้รับความสนใจ
โครงการอีโค่-สมาร์ตแดมเปอร์ ไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของนวัตกรรมไทย แต่ยังเป็นต้นแบบความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ การศึกษา และเอกชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สร้างอนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.