เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 - เวทีเสวนา Recovery Forum ในสัปดาห์นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร (EAST) มาบรรยายในหัวข้อ “การปรับห่วงโซ่มูลค่าใหม่ของพืชเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน.” โดยระบุว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจน ต้องมองปัญหาเชิงระบบ สร้างแต้มต่อเพื่อให้มีช่องทางในการเพิ่มมูลค่าของพืชเศรษฐกิจ เพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของสินค้าชุมชน หรือโอท็อปชุมชน ซึ่งในขณะนี้สัดส่วนของรายได้ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่สูงมากนักและเป็นกลุ่มใหญ่ราว 123,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ดร.บัณฑิต กล่าวว่า แม้มูลค่าทางเศรษฐกิจระดับฐานราก เมื่อนำมาสู่เศรษฐกิจกระแสหลักจะดูเหมือนไม่มาก แต่เศรษฐกิจฐานรากจะทำให้ค่าเฉลี่ยรายได้ของประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น และเป็นการกระจายตัว ที่จะมีผลดีมากต่อเศรษฐกิจฐานราก
“การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ เกษตรกรต้องเปลี่ยนบทบาท ลดข้อต่อในพื้นที่ โดยทำการเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม และทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่มี Value Creation สูง มีความโดดเด่นของพื้นที่นั้น หรือเกิดจากภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมของพื้นถิ่นนั้นๆ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นสมบัติเก่า ซึ่งหากเกษตรกรปรับตัวเป็นล้งในพื้นที่ เงินจะเข้าเกษตรกรเต็ม 100% และหากเราผลักดันเข้าสู่ระบบการทำโรงสี รวมตัวกันเป็นกลุ่ม หรือ Network Value Chain เพื่อสร้างวงจรความร่วมมือหนุนเสริมกัน เพิ่มการวนรอบของเงินในพื้นที่ให้นานขึ้น มากขึ้นหรือเข้าถึงตลาดที่แท้จริง สัดส่วนแบ่งของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นถึง 40% จะก่อให้เกิดแฟร์เทรดเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการจะปรับให้เกิดสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น อววน. มีบทบาทสำคัญมากในการใส่องค์ความรู้ เพิ่มทักษะ และนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย” ดร.บัณฑิต กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ข้อมูลที่ ดร.บัณฑิต นำเสนอในวันนี้มีประโยชน์มาก และมีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้ตรงจุด ซึ่งเป็นประเด็นที่ สอวช. ให้ความสำคัญมาก โดยสิ่งที่ท้าทายเกี่ยวกับประเด็นการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด คือ เราจะปูพรมขยายผลการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างไรให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทที่ต่างกัน นอกจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดของนักวิจัยให้หันมาทำงานที่มุ่งผลให้เกิดการพัฒนา และสามารถผลักดันงานวิจัยสู่ธุรกิจชุมชนได้แล้ว ยังจำเป็นต้องยึดหลักการคิดเชิงออกแบบ คิดแก้ปัญหาที่สามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ด้วย นอกจากนี้ ต้องอาศัยการลงพื้นที่ไปเกาะติดชุมชนเพื่อเข้าไปชวนคิด ชวนตั้งคำถาม และเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงแนะนำตลอดจนช่วยประสานเชื่อมโยงเครือข่ายปลายน้ำที่เกี่ยวข้องให้กับชุมชน อย่างไรก็ตาม การขยายประเด็นการพัฒนาประเทศอย่างได้ผลมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดย สอวช. ได้บรรจุประเด็นการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ในเฟสปี 2566 - 2570 ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นรูปมาพอสมควรแล้ว และกำลังเติมเต็มความสมบูรณ์ต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.