สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้ง “ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่นครบวงจร” ครอบคลุม 13 สาขาวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานสากล เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของผู้ประกอบการไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งภายในประเทศ/ต่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ยั่งยืน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น” เพื่อรองรับการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของผู้ประกอบการ ซึ่งการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นให้สามารถขึ้นทะเบียน อย. ได้นั้น ต้องปฏิบัติตาม Guideline ต่างๆที่ อย.กำหนด เช่น ผลิตภัณฑ์นั้นต้องมีความปลอดภัย หรือผ่านการทดสอบความเป็นพิษและประเมินความปลอดภัยแล้ว หรือหากต้องการการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) ก็ต้องมีการพิสูจน์ฤทธิ์ต่างๆ ทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์ โดย ศูนย์บริการฯ ของ วว. พร้อมให้บริการและสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ครอบคลุมตามมาตรฐานสากล
“...ปัจจุบันผู้บริโภคมีความตระหนักและมีแนวโน้มใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าส่วนแบ่งการตลาดของอาหารสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลกที่มุ่งไปสู่ "อาหารเพื่อสุขภาพ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเภทอาหารฟังก์ชั่น (Functional Foods)" ซึ่งมูลค่าตลาดของ Functional Foods ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังแซงหน้าอาหารเพื่อสุขภาพในกลุ่มอื่นๆ การจัดตั้ง “ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่น” เป็นการดำเนินงานในมิติเชิงรุกของ วว. ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเรามีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีเครื่องมือที่ทันสมัย และเรามีศักยภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการวิจัยและพัฒนา ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่นอย่างครบวงจร...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ทั้งนี้ อาหารฟังก์ชั่น (Functional Foods) มีนิยามที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปหมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีการเติมสารอาหารบางอย่างเข้าไป อาทิ สารสกัดจากธรรมชาติที่ให้ประโยชน์นอกเหนือจากคุณค่าทางโภชนาการพื้นฐาน สารอาหารฟังก์ชั่นเหล่านั้นจะส่งผลดีต่อสุขภาพ และ/หรือ ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคต่างๆ ที่สำคัญ คือ การยังคงสภาพเป็นอาหาร ไม่ใช่แคปซูลหรือเป็นผงเหมือนยา และไม่มีข้อจำกัดในการบริโภค เช่น ช่วยส่งเสริมและควบคุมให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานได้อย่างสม่ำเสมอ (Rhythm of physical condition) ป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจากภาวะทุพโภชนาการ และควบคุมอาการของโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น ทั้งนี้หากมีศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่นที่เชี่ยวชาญจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการมีผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพมาตรฐาน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วว. มีศักยภาพในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ด้านอาหารฟังก์ชั่น (Functional Foods) อย่างครบวงจร ดังนี้ 1.การทดสอบฤทธิ์ต่างๆ ทางชีวภาพเบื้องต้นของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ ทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเตอเรส ทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไลเปส เอนไซม์อะไมเลส เอนไซม์กลูโคซิเดส เอนไซม์ 2.การวัดปริมาณสารสำคัญต่างๆ ได้แก่ ปริมาณสารประกอบฟินอลิครวม ปริมาณแอนโธไซยานิน ฟลาโวนอยด์รวม เบต้าแคโรทีนรวม 3.การทดสอบคุณสมบัติทางด้านเภสัชจลนศาสตร์ของสารต่างๆ และ 4.การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ (Pharmacological Testing) ในหลอดทดลอง
ทั้งนี้ ในส่วนของการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ในหลอดทดลอง จะให้บริการครอบคลุมในสาขาต่างๆ ได้แก่ 1.) โรคกระดูกและข้อ (Bone and Joint diseases) เช่น การทดสอบฤทธิ์ส่งเสริมการสร้างกระดูกและยับยั้งการสลายกระดูก การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อโรคข้อเสื่อม การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แซนทีนออกซิเดส ฤทธิ์ในการขับกรดยูริก 2.) โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular disease) เช่น การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีบทบาทหลักต่อการย่อยอาหารไขมันในทางเดินอาหาร การทดสอบสารต่อการลดการสะสมไขมันภายในเซลล์เพาะเลี้ยงเซลล์ไขมัน 3T3-L1 การทดสอบฤทธิ์ต่อกระบวนการละลายของโคเลสเตอรอลในไมเซลล์ การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการคลายตัวของหลอดเลือดหัวใจ 3.) โรคระบบประสาทและสมอง (Neurological and Brain disease) เช่น การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ AchE, การศึกษาในการป้องกันและลดการทำลายของเซลล์ประสาท SH-SY5Y และการประเมินศักยภาพของสารต่อการฟื้นฟูความจำบกพร่องในหนูแก่ 4.) โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal diseases) เช่น การศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันหรือลดความเสี่ยงไขมันพอกตับ การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการเพิ่มการหดตัวหรือคลายตัวของลำไส้ 5.) โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น การทดสอบความเป็นพิษติ่เซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการตายแบบอะพ๊อพโตซิสในเซลล์มะเร็ง การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ด้วยวิธี Wound healing assay 6.) ระบบภูมิต้านทาน (Immune system) เช่น การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการส่งเสริมการทำงานของ NK cells การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ของสารต่อการกระตุ้นการทำงานของ B-cell และ T-cell 7.) มวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass) เช่น การศึกษาประสิทธิภาพและกลไกในการเสริมสร้างหรือเพิ่มมวลกล้ามเนื้อของสาร ประเมินความสามารถในการซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดของสาร
5.ทดสอบฤทธิ์ทางด้านเภสัชวิทยาต่างๆ ในสัตว์ทดลอง ได้แก่ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดการทดสอบฤทธิ์เพิ่มภูมิต้านทาน และการทดสอบฤทธิ์ลดไขมันในเลือด 6.ทดสอบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ทางด้านการเป็น Prebiotics และ Probiotics 7.วิเคราะห์คุณภาพด้านกายภาพและเคมีของผลิตภัณฑ์ 8.ประเมินคุณภาพด้านประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ 9.ประเมินอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์ 10.ทดสอบด้านพิษวิทยาและการประเมินความปลอดภัยของสารสกัด/ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันทางปากในหนูทดลอง และการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังทางปากในหนูทดลอง
11.ทดสอบความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety Testing) จากสารปนเปื้อนหรือสารตกค้างในอาหาร (Food contaminants) ได้แก่ การทดสอบหาปริมาณยาปฏิชีวนะ การทดสอบหาปริมาณเมลามีนและสารอนุพันธุ์ การทดสอบหาปริมาณสารเร่งเนื้อแดง การทดสอบหาปริมาณสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง การทดสอบหาปริมาณสารกันบูด การทดสอบหาปริมาณสารกันหืน การทดสอบหาปริมาณสารให้ความหวานแทนน้ำตาลไมโคทอกซิน การทดสอบหาปริมาณโลหะหนัก การดัดแปรทางพันธุกรรม (GMO) สารก่อภูมิแพ้ (Food allergen) การทดสอบทางจุลชีววิทยา ได้แก่ เชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ยีสต์และรา และการวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยาอื่น ๆ การทดสอบการปลอมปนในอาหาร (Food adulteration) และการทดสอบความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร 12.วิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ และ 13.วิเคราะห์เพื่อหาส่วนประกอบของอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มประเภทต่างๆ
“ศูนย์บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ ด้านอาหารฟังก์ชั่นครบวงจร วว.” เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2577 9142 (ดร.วิริยาภรณ์ สุ่มสกุล และ ดร.สินี ศิริคูณ) E-mail : ff.testing.centre@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.