นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่าจากการสถานการณ์ วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์สารฆ่าเชื้อในปริมาณที่สูงและเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งการผลิตและจัดเตรียมวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่ผู้ประกอบการส่งมาทดสอบนั้น มีทั้งชนิดที่ผลิตใช้เองภายในประเทศและชนิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยแต่ละชนิดจะมีจุดประสงค์ในการฆ่าเชื้อที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องมีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อให้เหมาะสมกับชนิดและถูกวิธีในการใช้งาน ส่วนผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เพื่อทำความสะอาด และลดจำนวนเชื้อโรคให้อยู่ระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไม่สามารถทำให้ปราศจากเชื้อโรคหรือไม่มีเชื้อโรคได้
ทั้งนี้ ในรอบ 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึง มกราคม 2564 ช่วงการระบาดของไวรัส โควิด-19 วศ. โดยกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค ซึ่งมีความสามารถเชี่ยวชาญในการทดสอบหาปริมาณสารออกฤทธิ์ ได้ให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์สารฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ กว่า 825 ตัวอย่าง แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับทำความสะอาดมือ ได้แก่ เจลแอลกอฮอล์ และสเปร์ยแอลกอฮอล์ รวม 173 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 154 ตัวอย่าง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับพื้นผิวและวัสดุ จำนวน 618 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มสารลดแรงตึงผิวประจุบวก (Benzalkonium chloride, Quaternary ammonium compound) กลุ่ม Oxidizing agents กลุ่ม Halogens และกลุ่ม Aldehydes ผลการทดสอบพบว่าผ่านเกณฑ์ตามที่ระบุในใบคำร้อง 447 ตัวอย่าง โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะส่งเข้ามาทดสอบมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563
พร้อมกันนี้ วศ. มีข้อแนะนำเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่แบ่งเป็นกลุ่มตามโครงสร้างทางเคมี ดังนี้
1 กลุ่ม Alcohols ที่นิยมใช้มากมี 2 ชนิด คือ Ethanol และ Isopropanol
2 กลุ่ม Aldehydes ที่ใช้ในปัจจุบัน คือ Formaldehyde และ Glutaraldehyde
3 กลุ่ม Oxidizing agents กลุ่มนี้ที่นิยมใช้ทั่วไป เช่น Hydrogen peroxide Phenols Cresols
4 กลุ่ม Halogens ที่ใช้กันมาก คือ คลอรีน
5 กลุ่ม Iodophores ที่รู้จักกันดี คือ Povidone-Iodine ซึ่งประกอบด้วย Iodine กับ Polyvinylpyrolidine ซึ่งเมื่อ ละลายน้ำจะปล่อย ไอโอดีนอิสระออกมาอย่างช้าๆ
6 กลุ่ม Surface active agents
วศ. โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมี กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค ได้พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับผลทดสอบที่มีความน่าเชื่อถือและนำผลทดสอบไปใช้ยื่นเพื่อขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมปศุสัตว์ หรือนำไปใช้เป็นข้อแนะนำในฉลากผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคในการคำนวณหาปริมาณการใช้ วิธีการใช้ ความถี่ในการใช้ ตลอดจนวิธีการกำจัด วิธีการป้องกันการตกค้างและการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะได้ใช้สารเคมีที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเคมี กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค กรมวิทยาศาสตร์บริการ โทร.02-2017000 ในวันและเวลาราชการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.