(7 พฤษภาคม 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ กต. และ อว. เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการต่างประเทศให้ไปในทิศทางเดียวกันและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านการประชุมหารือในระบบออนไลน์ โดยมี นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดงาน และได้นำประเด็นสำคัญจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมหารือแนวทางการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย, การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการสร้างนวัตกรรมในชุมชน สังคม รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศและภาคเอกชน
ด้าน รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้เริ่มต้นการหารือโดยการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และบทบาทของ สกสว. ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ระบบงบประมาณการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และแนวทางความร่วมมือกับต่างประเทศของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
จากนั้น ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ บีซีจี โมเดล ในประเด็นมุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยถ่ายทอดให้เห็นภาพรวมของโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านรูปของพีระมิด ซึ่งส่วนยอดของพีระมิด จะต้องใช้วิทยาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง มีความเกี่ยวข้องกับคนไม่มาก แต่จำเป็นสำหรับประเทศ เพราะมีส่วนช่วยฉุดให้ประเทศไทยออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ส่วนฐานของพีระมิด เป็นส่วนที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้ง SMEs เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมกว่า 20 ล้านคน
“BCG มุ่งเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร, พลังงานและวัสดุ, สุขภาพและการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีเป้าหมายคือการสร้างมูลค่าจากโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ให้เพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ24 ของ GDP ภายใน 5 ปี จากเดิม 3.4 ล้านล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมที่เป็นข้อได้เปรียบเดิมของไทยอยู่แล้ว และเสริมเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไป เพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และเกิดความยั่งยืน อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนต้องมองภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้การดำเนินงานทุกภาคส่วนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน” ดร.กิติพงค์ กล่าว
อีกส่วนที่สำคัญคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าฐานชีวภาพของไทย แต่เดิมประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร เช่น น้ำตาล แป้ง ปาล์มน้ำมัน ที่บางส่วนสามารถแปลงไปเป็นอาหาร สมุนไพรมูลค่าสูงได้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือ การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี หรือการนำเข้าเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการมีโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ที่จะเข้ามาช่วยในการผลิตสารเคมีชีวภาพ ยาชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ พลังงานชีวภาพ หรือสารสกัดต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้
สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนบีซีจี ที่ได้มีการให้ทุนสนับสนุนผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเริ่มเห็นผลในหลายโครงการ เช่น การวิจัยและพัฒนาเพื่อผลชุดตรวจโควิด-19 SARS-CoV-2 ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR (qPCR) เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ, การพัฒนายาชีววัตถุต้นแบบ เพื่อใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน, การจัดตั้งองค์กรเพื่อการวิจัยทางคลินิกแห่งประเทศไทย, ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากสารสกัดแซนโทน (Xanthone) ในเปลือกมังคุดอินทรีย์, นวัตกรรมการผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลงและพืช เป็นต้น นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ผลักดันในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 2 มิติ ทั้งการแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม และการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนถึงนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของต่างประเทศที่สอดคล้องและเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศได้ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายสังคมสีเขียว (Green Growth Strategy) ที่สามารถเชื่อมโยงกับนโยบาย BCG ที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนได้ในแง่ของการหมุนเวียนใช้งานทรัพยากร นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีนโยบายที่จริงจังเกี่ยวกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) โดยมีข้อกำหนดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะต้องปรับการใช้งานยานพาหนะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ประเทศเกาหลีใต้ มีการประกาศนโยบายยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนโดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโอกาสที่สามารถสร้างแนวทางความร่วมมือได้หลายด้าน เช่น การเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งเกาหลีใต้มีแผนพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุข จัดฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ การส่งเสริมการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาด รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษาและ พัฒนาบุคลากรทักษะสูง พัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่ก้าวหน้า โดยมีสถาบันอุดมศึกษาหลายสถาบันที่ได้รับการยอมรับเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม จึงมองเห็นโอกาสการพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ด้วยการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันหรือมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรร่วมกันได้ สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีนโยบายที่สามารถเชื่อมโยงกับนโยบายบีซีจี และนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยได้เช่น นโยบาย Green Finance, การสร้างพันธมิตร หารือร่วมกันในการพัฒนาสตาร์ทอัพ และการปรับโครงสร้างการศึกษา ด้วยการคิดนอกกรอบ เตรียมความพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เป็นต้น สหรัฐอเมริกา มีการมุ่งเน้นนโยบายการนำพาประเทศไปสู่การใช้งานพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน สถาบันวิจัย ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น มีการพัฒนา Charging Station โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอีก 500,000 แห่ง ภายในปี 2030 นอกจากนี้ในแง่ของความร่วมมือ การใช้เกษตรแม่นยำ น่าจะเป็นโอกาสที่จะศึกษาร่วมมือกับประเทศไทยได้ ในการพัฒนาภาคการเกษตรไทยให้มีศักยภาพ และเพิ่มผลผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและไอทีเข้ามาช่วย ประเทศจีน ไทยมีโอกาสในการสร้างความร่วมมือในหลายสาขา เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ควอนตัม, จีโนมิกส์ (Genomics) เป็นต้น รวมถึงสิ่งที่ประเทศจีนภาคภูมิใจคือการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถเชื่อมโยงกับบีซีจีได้เช่นเดียวกัน โดยประเทศไทยต้องมีการกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจะได้รับจากแต่ละประเทศอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการผลักดันร่วมกันของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายหลังจากการประชุม อว. โดย สกสว. จะรับข้อเสนอเพื่อไปดำเนินการร่วมกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศอย่างเข้มข้น ซึ่งในขณะนี้สกสว. เองอยู่ระหว่างการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 – 2570 โดยเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ และ สอวช. ก็กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ สำหรับเรื่องบีซีจีจะมีการทำงานร่วมกับ กต. ที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเพื่อศึกษาเพิ่มเติมให้เห็นภาพในการทำงานและสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศที่ชัดเจนต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.