ท่านทราบหรือไม่ “เวลา” ที่เรารู้จักหรือใช้กันอยู่ทุกวันจนดูเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัวนั้น ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก เพราะเวลาไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้บอกเวลาในชีวิตประจำวันหรือการทำกิจกรรมต่างๆ แต่การใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของระดับความแม่นยำของเวลาที่เราเลือกใช้หรืออ้างอิง เป็นต้นว่า กิจกรรมทั่วไปที่เราใช้ในชีวิตประจำวันบางอย่างเราสามารถยืดหยุ่นได้ มาตรฐานเวลาที่เราใช้อ้างอิงหากเกิดความผิดพลาดเพียง 1 วินาทีเราก็คงยอมรับได้ เช่น การมาสายเพียงแค่ 2-3นาที บางครั้งก็อาจไม่ได้ส่งผลมากนัก แต่ให้ลองจินตนาการถึงเวลาบนระบบเครือข่ายดิจิทัลทั้งหลายดู จะเห็นว่าเวลาที่พลาดไปแม้แต่เพียง 1 วินาทีนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะธุรกรรมต่างๆ บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการให้เกิดระดับความผิดพลาดแค่ มิลลิวินาที หรืองานบางประเภท ต้องใช้ถึง ไมโคร หรือ นาโนวินาที กันเลยทีเดียว เช่นการสื่อสาร 5G Internet of Things : IoT การทำงานของระบบ Radar หรือระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศ จึงมีความสำคัญมากต่อการสร้างศักยภาพให้แก่ระบบดิจิทัล
อย่างประเด็นของ Cyber Security ซึ่งที่ผ่านมาหลายๆท่านคงเคยได้ยินข่าวการโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ รูปแบบใหม่ๆ กันอยู่บ้าง ซึ่งล่าสุด มีเงินถูกทยอยถอนหายออกไปจากบัญชีธนาคารทีละน้อยๆ จนหมด และยังไม่สามารถสืบหาผู้กระทำได้ นั่นคือช่องโหว่ของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่ไม่สมบูรณ์ ผู้ที่นำระบบเอามาใช้งานอาจไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยง และความสามารถทางการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงโครงสร้างมากนัก ทำให้ระบบการป้องกันมีช่องโหว่และยังเข้มงวดไม่เพียงพอ
ระบบ Time Stamp จึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิง โดยระบบดังกล่าวจะเป็นตัวควบคุมและระบุเวลาของกิจกรรมต่างๆ บนระบบ Digital ทั้งหมด ยกตัวอย่างการใช้งานระบบ เช่น สามารถใช้ควบคุมหอบังคับการบิน เพื่อให้การขึ้นลงของเครื่องบินถูกต้องไม่ชนกัน การสับรางของรถไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญของมหานครใหญ่ อย่าง นิวยอร์ค ลอนดอน ปักกิ่ง หรือ แม้แต่ประเทศไทย ที่ผิดพลาดแม้แต่วินาทีก็อาจเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ได้ การสืบหาหลักฐานทางด้านการโจรกรรมบนโลกไซเบอร์ ระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่การสั่งซื้ออาหาร ที่ใช้ e-Document หากระบบ Time stamp ผิดพลาด จะทำให้ระบบ อื่นๆ เช่นการคำนวนเงิน วันที่เวลาต่างๆ ผิดพลาดตามไปทั้งหมด ส่งผลเสียหายต่อประชาชน ได้ในทันที
อย่าลืมว่าโลกของเรา นับจากนี้เป็นต้นไป วิถีชีวิตของผู้คนจะถูกผูกติดไว้บนโครงข่ายดิจิทัลแทบทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องมีการบันทึกเวลาที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เพื่อให้การทำธุรกรรม หรือ กิจกรรม ทั้งหมดบนโลกดิจิทัล มีความมั่นคง ปลอดภัย และสืบย้อนกลับได้อย่างถูกต้อง และนั่นก็คือเรื่องราวที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ หากท่านใดสนใจเรื่องราวของ Time Stamp การปรับเทียบเวลามาตรฐาน สามารถ Download โปรแกรมและวิธีปรับเทียบเวลามาตรฐานได้ ที่เว็บไซต์ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.