องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) จัดการแข่งขัน Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2022 รอบชิงชนะเลิศ เพื่อเฟ้นหาทีมชนะเลิศการออกแบบและประดิษฐ์ดาวเทียมขนาดเล็ก (CANSAT) และจรวดประดิษฐ์ (ROCKET) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผลปรากฏทีม Himitsukichi จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองพร้อมถ้วยรางวัลและทุนการศึกษามูลค่า 15,000 บาท หวังต่อยอดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศให้กับประเทศในอนาคต
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “การแข่งขัน Thailand CANSAT-ROCKET Competition 2022 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เพื่อสร้างและเตรียมพร้อมด้านบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศให้กับประเทศ และผลการตอบรับจากเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี โดยในปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งกว่า 90 ทีม และคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศจำนวน 15 ทีม เพื่อมาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2565 ณ อพวช. จังหวัดปทุมธานี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญให้กับเยาวชน โดยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ อพวช. ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนนำไปสู่การอยากเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศ”
พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมโครงการ “THAILAND CANSAT – ROCKET COMPETITION 2022” รอบชิงชนะเลิศ ในวันนี้ เป็นเวทีที่ทำให้เยาวชนได้แสดงความสามารถ กระตุ้นความใฝ่รู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นอกเหนือจากในตำราเรียน ผมรู้สึกชื่นชมในความสามารถของเยาวชนทุกคนที่ถึงแม้จะเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแต่กระบวนการคิดและจินตนาการเสมือนกับนักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานจริง และขอขอบคุณทุก ๆ พลังสร้างสรรค์จากทุกทีม ที่ไม่เพียงส่งต่อแรงบันดาลใจไปถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคณะกรรมการ และผู้จัดงานเป็นอย่างมาก
แม้ว่าปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่เยาวชนต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้รูปแบบการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม แต่ทุกคนก็ยังคงมุ่งมั่น ตั้งใจ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ผมขอฝากถึงเยาวชนทุกคนนะครับ อย่าหยุดฝัน อย่าหยุดเล่น อย่าหยุดที่จะลอง แล้วเราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของไทยให้กลายเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับรางวัลชนะเลิศ CANSAT – ROCKET Award ตกเป็นของทีม Himitsukichi จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ คว้าถ้วยรางวัลและทุนการศึกษามูลค่า 15,000 บาท โดยมีสมาชิกในทีม ได้แก่ นายกิตติภณ อมรประเสริฐ นายกฤษดา สิงหะคเชนทร์ นายนุชิต วิจิตรกิจจา นายปิติภูมิ อาชาปราโมทย์ และนายฆฤณ กวีวงศ์สุนทร คุณครูผู้คุมทีม นายพชร ภูมิประเทศ
นอกจากนี้ยังมีรางวัลอีก 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลประเภท CANSAT รางวัลประเภท Rocket
ผลรางวัลประเภท CANSAT มีดังนี้
รางวัล Mission Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
รางวัล Technique Award ได้แก่ ทีม อาบังขายปาท่องโก๋ จากโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ จ.พัทลุง
รางวัล Best Failure Award ได้แก่ ทีม MST จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.นครศรีธรรมราช
รางวัล Best CANSAT Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
ผลรางวัลประเภท Rocket มีดังนี้
รางวัล Rocket Mission Award ได้แก่ ทีม CANSAT – CANJAI จากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น
รางวัล Deployment Award ได้แก่ ทีม CANSAT CANJAI จากสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รางวัล Aerodynamics design Award ได้แก่ ทีม Nuage จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
รางวัล Best Rocket Award ได้แก่ ทีม Himitsukichi จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.รวินฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมอีกขั้น ในการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้เยาวชนไทยให้พร้อมมีศักยภาพเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต และขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ เยาวชน ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ หวังว่าเวทีนี้จะเป็นบันไดให้กับทุกคนได้ก้าวไปสู่การพัฒนาตนเองและต่อยอดในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม และอวกาศ ให้กับประเทศต่อไป”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.