องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแสดง “นิทรรศการ Make and Play” ทำ-เป็น-เล่น ชวนสัมผัสดินแดนแห่งการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ เรียนรู้หลักการสะเต็มอย่างสนุกสนานและเข้าใจง่าย สนุกท้าทายค้นหาคำตอบ พร้อมแก้ปัญหา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดสู่การเป็นนักประดิษฐ์ให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยนิทรรศการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้ เป็นต้นไป
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า “จังหวัดปทุมธานีเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพมหานคร และมีการคมนาคมที่สามารถเชื่อมโยงจังหวัดในทุกภูมิภาคเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดและมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารการกิน รวมถึงธรรมชาติและชุมชนริมน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายมอญที่น่าสนใจ รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการศึกษาเรียนรู้ เนื่องจากในย่านคลองห้ามีแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และศิลปะ เช่น อพวช. แห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจและประโยชน์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้าถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนและเรื่องราวที่น่าสนใจของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรม เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณค่าให้กับเยาวชนและประชาชนในจังหวัดปทุมธานี
สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการชุด Make and Play ทำ-เป็น-เล่น ถือเป็นนิทรรศการต้นแบบสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชน ได้ฝึกฝนทักษะการคิดแบบบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางการเรียนรู้ ที่เน้นการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันแล้วหาคำตอบผ่านกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องบูรณาการองค์ความรู้หลายศาสตร์ในการตอบคำถามหรือแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อเยาวชนในศตวรรษที่ 21”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. ได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยใช้หลักการของสะเต็มศึกษา จึงได้มีการนำนิทรรศการ Make and Play ทำ-เป็น-เล่น ซึ่งเป็นนิทรรศการที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา มาจัดแสดง ณ อพวช. เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมเน้นการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดการแก้ปัญหา และสนุกกับการค้นพบปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน และบุคคลทั่วไป
นิทรรศการ Make and Play ทำ-เป็น-เล่น ผู้เข้าชมจะได้ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง พร้อมท้าทายกระบวนการคิด วิเคราะห์ ในการแก้ปัญหาอย่างสนุกสนาน โดยนำเสนอเนื้อหาพื้นฐานทางฟิสิกส์ง่าย ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานต่อการเรียนรู้ด้านทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของเยาวชน โดยถูกถ่ายทอดออกมา เป็นชิ้นงานนิทรรศการทั้งหมด 7 ชุด 11 เรื่อง อาทิ 1.จรวดแรงดันอากาศ Air Rocket / กฎของแบร์นูลลี Bernoulli Counter 2.วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย Circuit Bench / วงแหวนกระโดด Ring Launcher 3.รถพลังอากาศ Air Cars 4.รถแล่นด้วยใบเรือ Sail Cars 5.บินในแนวดิ่ง Vertical Flyer / แม่เหล็กเบื้องต้น Magnet Basic 6.สะพานแสดงความเค้น Photoelasticity Bridge / แรงดึงและแรงอัด Tension and Compression และ 7.กังหันลม Wind Turbine ซึ่งนิทรรศการ Make and Play ทำ-เป็น-เล่น จะช่วยให้ผู้เข้าชมได้ทดลองตามหลักการของ Maker Movement คือ การเป็นนักสร้าง นักประดิษฐ์ โดยการแก้ปัญหาอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ทั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยมของ อพวช. ที่กล่าวว่า Curiosity WINS ที่ส่งเสริมให้เกิดความสงสัยอยากรู้และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชน ได้เข้าใจในการเรียนรู้หลักการด้าน STEM อย่างสนุกสนานและเข้าใจง่าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนในสังคมและสามารถนำไปต่อยอดสร้างคุณค่าให้ตัวเอง และประเทศไทยต่อไปได้ในอนาคต”
สำหรับผู้เข้าชมที่สนใจชม นิทรรศการ Make and Play ทำ-เป็น-เล่น สามารถเข้าชมได้ ณ โถงนิทรรศการชั่วคราวชั้น 1 พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป เปิดให้บริการทุกวันพุธ - ศุกร์ เวลา 09.30 -16.00 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.30 -17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2577-9999 ต่อ 2122, 2123 หรือ www.nsm.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.