ฉลองครบรอบ 24 ปี มว. แถลงความก้าวหน้างานวิจัยเพื่อยกระดับความสามารถทางการวัดของประเทศ พร้อมมุ่งสู่การเป็นมาตรฐานการวัดแห่งชาติที่มีศักยภาพทัดเทียมนานาอารยประเทศ
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานสัมมนาวิชาการมาตรวิทยา Hybrid Event ภายใต้แนวคิด “มาตรวิทยาเพื่อความยั่งยืนในยุคดิจิทัล” (Metrology for sustainability in the digital era) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระที่ มว. ครบรอบปีที่ 24 ตลอดจนแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ๆ และความสำเร็จในการสร้างสรรค์งานวิจัย เมื่อวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 มีผู้สนใจร่วมเข้าสัมมนาวิชาการเป็นอย่างมากทั้ง 2 วัน ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ คลอง 5 ปทุมธานี, Zoom Online และ Facebook Live NIMT2541 นอกจากสัมมนาวิชาการแล้วยังมีพิธีแถลงข่าว การวิจัยนาฬิกาอะตอมเชิงแสง “ความสำเร็จในการขัง Single Ytterbium ions” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน
ดร.เอนก กล่าวว่า “24 ปี เป็นเวลาที่ไม่มากไม่น้อย เป็นเวลาที่พอดีไม่ว่าจะสำหรับคน หรือองค์กร ถ้าเป็นคนปีหน้าก็เบญจเพสแล้ว ถือเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ และมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นโอกาสให้เราได้สำรวจตัวเองและสิ่งต่างๆ ในมุมที่เราไม่เคยได้ทำ การเปลี่ยนแปลงทำให้เราได้แยกแยะได้ว่า สิ่งที่เราทำมากมายในแต่ละวัน อะไรคือแก่น คือสาระสำคัญ เพราะแก่นคือสิ่งที่เป็น คงอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ หรือ มว. มีภารกิจชัดเจน และเป็นภารกิจเฉพาะ และมีความท้าทาย เพราะเมื่อ มว. มีภารกิจที่ชัดและเฉพาะ ความก้าวหน้า หรือไม่ก้าวหน้าในภารกิจนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของ มว. โดยตรง ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือ การส่งมอบผลงานไปให้หน่วยงานอื่นเอาไปใช้ต่อ งานที่เฉพาะส่วนใหญ่เป็นงานที่ลงลึกและมักจะทำอยู่ภายในองค์กรนั้นๆ จึงหาคนที่เข้าใจในระดับเดียวกันได้ยาก มว. จึงจำเป็นต้องพัฒนาการส่งมอบผลงานให้ดีๆ เพื่อช่วยผู้รับให้เข้าใจและนำไปใช้ต่อได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์จริงๆ และคุ้มค่า อย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างนาฬิกาอะตอมเชิงแสงเป็นงานวิจัยระยะยาว แม้ในประเทศที่มีประสบการณ์การวิจัยในหัวข้อที่ใกล้กันมาก่อน การสร้างนาฬิกาอะตอมก็ยังใช้เวลาหลายปี ในกรณีของประเทศไทย นี่คือครั้งแรก และการวิจัยนาฬิกาอะตอมเชิงแสงนี้ ทำให้เกิด “ครั้งแรก” ของหลายๆ เรื่องขึ้นในประเทศไทย โดยความสำเร็จในการขังไอออนของธาตุอิธเธอเบียมนั้น ประเทศไทย โดย มว. ได้แสดงให้เห็นว่าเรามีคน มีทรัพยากรมนุษย์ มีทีมวิจัย มีห้องปฏิบัติการและความสามารถ เพียงพอที่จะทำการทดลองที่น้อยประเทศจะทำได้ ถ้าสำรวจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเรา เราคือชาติที่ 4 ที่ทำการทดลองนี้สำเร็จ อีก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สิ่งที่ทำให้เราควรต้องยินดีมากขึ้นไปอีกก็คือ ความสำเร็จในวันนี้เป็นสิ่งที่เราทำเอง คิดเองออกแบบเอง ประดิษฐ์เอง นอกจากนี้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการวิจัย ก็มาจากนักมาตรวิทยาของ มว. เอง และนักวิทยาศาสตร์ในประเทศ ความสำเร็จในการทำงานวิจัยระดับนี้ได้เองคือสิ่งที่ยืนยันว่า ถ้าเราอยากและตั้งใจจะทำอะไรจริง เราทำได้ เพราะการทดลองนี้เป็นหนึ่งในที่สุดของความซับซ้อน”
ด้าน นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า “24 ปี เป็นเวลาที่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่ต้องค้นหาคุณค่าและเป้าหมายเฉพาะ ต้องสะสมความรู้ ความสามารถ และแนวปฏิบัติ เพื่อให้สามารถดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า สามารถทำภารกิจและมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายที่กำหนดไว้ ซึ่ง มว. ใช้เวลามาแล้ว 24 ปี เพื่อสร้างสถาบันแห่งนี้ให้มีเติบโตและมีวุฒิภาวะ เพื่อให้พร้อมที่เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย ทุกรูปแบบ โจทย์ในวันนี้ของสถาบันไม่ใช่โจทย์เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ไม่ใช่โจทย์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือแม้แต่ 5 ปีที่แล้วเพราะประเทศไทยอยู่ในบริบทใหม่ สังคมไทยอยู่ในบริบทใหม่ โลก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ในบริบทใหม่ วิธีการและความสำเร็จแบบเดิมๆ จึงอาจจะไม่ใช่คำตอบของวันนี้ แต่วันนี้ สถาบันมีประสบการณ์ 24 ปี เป็นทุน รวมทั้งหน้าที่และเป้าหมายของสถาบันยังคงเดิม ดังนั้น สถาบันต้องมองไปข้างหน้าและหาคำตอบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ปัจจุบันและอนาคต กิจกรรมในช่วงสองวันนี้ สะท้อนว่าสถาบันกำลังวางแผนที่จะไปข้างหน้า และในบางเส้นทาง เราได้เริ่มถางทางแล้ว highlights ของสิ่งที่เราทำ จะได้รับการขยายความให้ทุกท่านทราบผ่านกิจกรรมในสองวันนี้”
นับตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 มว. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ระบบมาตรวิทยาของประเทศไทย พัฒนามาตรฐานปฐมภูมิ เพิ่มประสิทธิภาพของการวัด ให้เป็นไปตามนิยามใหม่ SI เพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ มาตรฐานการวัดของประเทศให้เป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก หลังจากที่ได้สั่งสมประสบการณ์ การพัฒนาองค์ความรู้ และงานวิจัยด้านการวัด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มว.มีความรู้ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และตระหนักดีกว่านวัตกรรมที่สร้างอนาคตของประเทศไทยสำคัญอย่างไร โดยกุญแจสำคัญที่จะนำศักยภาพด้านนวัตกรรมมาสู่ประเทศนี้ คือมาตรฐานการวัดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือ ในการเข้าถึงมาตรฐานที่สากลยอมรับ ตลอดจนการมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านมาตรวิทยาที่เพียงพอ ต่อการเดินหน้าพัฒนาระบบคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่ง มว. เป็นอีกหนึ่งองค์กรภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในการส่งเสริมและสนับสนุนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆและสนับสนุนศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ เร่งเครื่อง ผลิตงานวิจัย นวัตกรรม และการศึกษา ในสาขามาตรวิทยา เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ที่เป็นกำลังสนับสนุนการทำงานในระบบคุณภาพ
การสัมมนาครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายปาฐกถาพิเศษ “ทำไมองค์กรจึงต้องมีความพร้อมปรับตัว” โดย ดร.ดนัยรัฐ ธนบดีธรรมจารี Digital Transformation and Enterprise Architecture มว. ได้นำเสนอรูปแบบใหม่ ด้วยเวที MET ReD Talk ที่มีการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการวัด โดยนักมาตรวิทยาของ มว. อีกด้วย โดยมี Highlights ที่สำคัญ แบบเนื้อหาด้านมาตรวิทยาครบรอบด้าน ได้แก่
มาตรวิทยาเพื่อความยั่งยืนและการแข่งขัน (Metrology for sustainability and competitiveness) หัวข้อสิ่งแวดล้อม : ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5)
วิธีการวัดฝุ่น PM 2.5, การสอบเทียบเครื่องมือวัดฝุ่น PM 2.5, TRM เพื่อการสอบเทียบเครื่องมือวัดฝุ่น PM 2.5
หัวข้อสาธารณสุข : การใช้ UVC ในการฆ่าเชื้อ, การวิเคราะห์สารสำคัญในสมุนไพร, ระบบสอบกลับได้ของเครื่องอัลตราซาวด์กายภาพบำบัดทางการแพทย์ของประเทศไทย
มาตรวิทยาเพื่อเทคโนโลยีอนาคต (Metrology for future technology) หัวข้อ Quantum metrology : Toward realization of the new SI
ความก้าวหน้าในการสร้างปริมาณทางไฟฟ้าจากปรากฏการณ์ควอนตัม, ความก้าวหน้าในการสร้างนาฬิกาอะตอม
เชิงแสง, Realiz ation of temperature, Realization of mass
หัวข้อ Future Food : แนวทางยกระดับการตรวจสอบการปนเปื้อนของเนื้อสัตว์ในอาหารด้วยเทคนิคทางชีวโมเลกุล
หัวข้อ Digital Transformation : มาตรวิทยาในยุคดิจิทัล, IoT & Smart farming, เทคโนโลยีหุ่นยนต์:การวัดและการสอบเทียบ
NIMT Now & Next : ถกเถียงตรงประเด็น “มว. 4.0 อะไร? อย่างไร? เพื่อใคร?”, บริการรูปแบบใหม่ มว., การพัฒนาบทบาทด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
พร้อมทั้งนำเสนอวีดีโองานด้านมาตรวิทยา อาทิ “สาส์นแสดงความยินดีจากพันธมิตร”จากสถาบันมาตรวิทยาชั้นนำทั่วโลกร่วมแสดงความยินดี “ไม่มีมาตรวิทยา ไม่มีมาตรฐาน”, การสร้างนาฬิกาอะตอมเชิงแสง เยี่ยมชมมาตรฐานการวัดแห่งชาติเพื่อรองรับระบบราง ณ อาคารมาตรฐานการวัดแห่งชาติเพื่อรองรับระบบราง เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่างๆ ของสถาบัน เรียกว่าข้อมูลผู้ที่สนใจรับแบบเต็มอิ่มกันเลยครับ สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ Facebook Live NIMT2541
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.