เมื่อวันที่ 23 พ.ย. / ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และรศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. แสดงความยินดีและให้กำลังใจกับเยาวชนไทยที่คว้า 2 รางวัลใหญ่ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ประจำปี 2565 (World Robot Olympiad 2022) ในระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองดอร์ทมุนต์ ประเทศเยอรมนี โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พร้อมด้วย นายจักรริน จันทรวิสูตร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด นำทีมเยาวชนเข้าพบ ณ ห้องประชุมรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า “ขอชื่นชมในความสามารถของเยาวชนไทยทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ จนได้รับรางวัลในเวทีระดับโลก กิจกรรมการแข่งขันนอกห้องเรียนในลักษณะนี้จะดึงความสามารถในตัวของเยาวชนออกมาให้เห็นได้ดีกว่าการตั้งหน้าตั้งตาอ่านตำราในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ตนอยากให้เยาวชนที่ชนะการประกวดแข่งขันในครั้งนี้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอด อย่าหยุดที่จะอยากรู้อยากทดลอง และกระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าผลงานของเยาวชนในวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยอีกมากมาย ที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นฐานกำลังปัญญาในการพัฒนาประเทศต่อไป”
ด้าน ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า สำหรับการประกวดแข่งขันปีนี้ อพวช. ร่วมกับ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันฯ รวมทั้งสิ้น 11 ทีม โดยการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ (World Robot Olympiad 2022) เป็นการแข่งขันออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ โดยใช้หุ่นยนต์จาก Lego Education มาทำการแข่งขันกันในระดับประเทศและนานาชาติ ผลปรากฏว่าตัวแทนประเทศไทยคว้า 2 รางวัลใหญ่มาครองสำเร็จ ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ ประเภท ROBOMISSION รุ่น Senior ได้แก่ ทีม ThaiHerbGood นายปพนรัตน์ ฟูใจ และนายเขมินท์ พินิตเกียรติสกุล จากโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จังหวัดลำปาง เล่าประสบการณ์การแข่งขันว่า “ในการแข่งขันนั้นตนเองได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์และเขียนโค้ดดิ้ง แก้ปัญหาตามภารกิจที่ทีมกรรมการมอบหมาย ในวันแรกเป็นโจทย์ที่ทุกทีมทราบมาล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวมาแข่งขัน ทีมผมอยู่อันดับที่ 20 เมื่อกลับมาถึงที่พักพยายามที่จะตั้งสติให้พร้อมกลับไปแข่งขันในวันที่ 2 ซึ่งเป็นภารกิจแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายวันนั้น ผลปรากฏว่าทีมผมสามารถแก้ปัญหาได้มากที่สุดจนคว้ารางวัลชนะเลิศได้ครับ” ซึ่งมีนายอรรถพล ชื่นกุล เป็นผู้ควบคุมทีม
รองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท ROBOSPORTS ได้แก่ ทีม PANYA ROBOT นายโชติพิสุทธิ์ มงคลวิสุทธิ์ นายพิสิษฐ์ มงควิสุทธิ์ และนายวรกร ฤกษ์สมถวิล จากสถาบันปัญญาโรบอท กรุงเทพฯ เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมแข่งขันว่า “เป็นการประดิษฐ์หุ่นยนต์และเขียนโค้ดดิ้ง เพื่อตีปิงปองไปฝั่งตรงข้ามให้ได้มากที่สุด โดยในสายที่ทีมตนแข่งขันนั้นประกอบไปด้วย 10 ประเทศ ทีมตนเป็นที่ 1 ของสาย เข้าสู่รอบตัดสิน 4 ทีมสุดท้าย และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอัน 2 มาครองสำเร็จ” ซึ่งมีควบคุมทีมคือ นายปัญญา สนธิธรรม จากสถาบันปัญญาโรบอท กรุงเทพฯ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.