กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมนำ”ปราชญ์เพื่อความมั่นคง” 77 จังหวัด มาเสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชน ด้วยการนำวิจัยและนวัตกรรม
ในการนี้ พลโท วิเศษ เจริญสุข รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเปิดกิจกรรม “การเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคความมั่นคงและภาคการวิจัยร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกที่มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของท้องถิ่น เชื่อมโยงกับการทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง และการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนให้เข้มแข็งด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จ.นครนายก
พลโท วิเศษ เจริญสุข รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนงาน และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคง ในพื้นที่เป้าหมายจนทำให้ชุมชนเหล่านั้นมีศักยภาพสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นเป็นชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการจัด "โครงการเสริมสร้างปราชญ์เพื่อความมั่นคงและเครือข่ายภาคจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของปราชญ์เพื่อความมั่นคง และมีการถ่ายทอดความรู้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างปราชญ์เพื่อความมั่นคงในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง วช. และ กอ.รมน. ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม มาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีกลไกของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 ร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2-5 และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำสู่ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายปราชญ์เพื่อความมั่นคงและพื้นที่ชุมชนเป้าหมายในความดูแลของ กอ.รมน. มากกว่า 400 ชุมชนใน 77 จังหวัด โดยการคัดกรองงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของชุมชน มากกว่า 30 องค์ความรู้และนวัตกรรมลงพื้นที่เป้าหมาย โดย กอ.รมน. ได้คัดกรองพื้นที่ที่เหมาะสมตามโจทย์ความต้องการ และ วช. คัดกรององค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดขยายผล ให้สอดรับกับบริบทความต้องการของชุมชน ในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็ง โดยมีนักวิจัยที่มีองค์ความรู้พร้อมถ่ายทอด ร่วมขยายผลนวัตกรรม ตลอดจนเครือข่ายภาคจังหวัด ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนต้นแบบ ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เน้นความยั่งยืน
นอกจากนี้ พล.ท.อนุชา สังฆสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. ได้ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน ที่ได้นำชุมชนต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ จากการได้รับองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น มาร่วมนำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งชุมชนที่ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบจาก กอ.รมน. และ วช. ในปีที่ผ่านมา
กิจกรรมที่จัดขึ้น ยังมีการบรรยายและการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ เพื่อให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็น ตลอดการจัดงาน อาทิ การบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการพัฒนาพื้นที่และส่งเสริมการเกษตร”โดย นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติสภาเกษตรกรแห่งชาติ การบรรยายพิเศษเรื่อง “ปักหมุดการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิจัยและนวัตกรรมโดยความร่วมมือระหว่าง กอ.รมน. และ วช. และนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับชุมชน” โดย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช. เป็นต้น โดยมีกอ.รมน.ภาค กอ.รมน.จังหวัด และปราชญ์เพื่อความมั่นคง 77 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 300 คน จากทั่วประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.