วันที่ 4 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2024 ในด้านการรองรับสังคมสูงวัย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับกรอบการวิจัยและนวัตกรรมของ วช. พร้อมการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจ และการเตรียมความพร้อม ให้แก่นักวิจัย ผู้บริหาร และผู้ประสานงานของหน่วยวิจัย ในการจัดเตรียมข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2568 โดย วช. มีความมุ่งหมายให้การส่งเสริมสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย เป็นการเตรียมความพร้อมในสถานการณ์ของประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมและส่งเสริมการสร้างรายได้ และพัฒนาแนวทางหรือมาตรการที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงวัย จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาประเทศด้วยการวิจัยและนวัตกรรม
พร้อมนี้ วช.ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “แนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านการรองรับสังคมสูงวัย ประจำปีงบประมาณ 2568” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. เป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนา ในประเด็น “นวัตกรรมการแพทย์ เพื่อก้าวต่อไปของผู้สูงอายุ” และผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
-คุณกอบกุล กวั่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ประเด็น “ผลักดันงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานเชิงนโยบาย”
-ศ.เกียรติคุณ นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประเด็น “งานวิจัยด้านสังคม สู่การบูรณาการเชิงพื้นที่”
-คุณสุนันทา สมพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประเด็น “ตีโจทย์งานวิจัย เพื่อตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
-ดร.มารยาท สมุทรสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ประเด็น “วิเคราะห์งานวิจัย ด้วย Impact pathway”
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ได้นำเสนอวิดีทัศน์แนะนำการใช้งานระบบ NRIIS โดย คุณศยามน ไชยปุระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศ ในการให้ข้อมูลการเข้าถึงเว็บไซด์ที่จะช่วยให้การยื่นข้อเสนอและติดตามงานวิจัยและนวัตกรรมได้สะดวก รวดเร็ว
ต่อจากนั้น คุณศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรการวิจัยและนวัตกรรม วช. กล่าวถึง ภาพรวมผลสำเร็จจากผลงานวิจัยนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัยที่มีการขับเคลื่อนผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ กรอบการวิจัยและนวัตกรรม และการส่งข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนการวิจัยด้านพัฒนาสังคมสูงวัยด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2568
ในช่วงบ่าย มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมโดย
-ผศ.ดร.สุธีรา วัฒนกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็น “ยกระดับงานวิจัย สู่ภาคอุตสาหกรรม”
-รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็น “งานวิจัยเชิงนโยบาย สู่การขับเคลื่อนเชิง Policy”
-ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย “เศรษฐกิจมั่นคง สู่ความเพียงพอต่อการดำรงชีวิต”
-รศ.ดร.พรชนก ทองลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง “การมีส่วนร่วมของคนทุกช่วงวัย สู่กิจการเพื่อสังคม”
-ดร.รุ่งเรือง พัฒนากุล จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) “นวัตกรรมมุ่งเป้า สู่การยกระดับคุณภาพชีวิต”
ในการถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมทั้ง 5 ประเด็น ทั้งนี้ วิทยากรได้นำเสนอให้เห็นกระบวนการดำเนินงาน และการวางแผนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่เป้าหมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในยื่นเสนอขอรับทุน
ทั้งนี้ NRCT Open House 2024 : การชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 ของ วช. ระหว่างวันที่ 1 – 9 มิถุนายน 2567 ในรูปแบบ Onsite และ Online ผ่าน (Video conference) ด้วยระบบ zoom meeting และการถ่ายทอดสด (Live streaming) ผ่านช่องทาง Facebook ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเหลือเวลาการจัดอีก 5 วัน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่ละวัน ได้แก่
-ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ (วันที่ 5 มิถุนายน 2567)
-ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม (วันที่ 6 มิถุนายน 2567)
-ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร (วันที่ 7 มิถุนายน 2567)
-ด้านสัตว์เศรษฐกิจ (วันที่ 8 มิถุนายน 2567)
-ด้านการจัดการความรู้การวิจัย และถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (วันที่ 9 มิถุนายน 2567)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.