ตอกย้ำความสำเร็จในการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการแพทย์ไทย สามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคล ด้วยนวัตกรรมการพิมพ์สามมิติในโรงพยาบาล และใช้ในผู้ป่วยจริงได้สำเร็จเป็นเจ้าแรกของโลก (World First: Siriraj Achieves Breakthrough in Point-of-Care Manufacturing of 3D-Printed Titanium Hip Sockets with Proven Clinical Success) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยได้มีการจัดงานแถลงข่าวความสำเร็จขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยมี คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.มหิดล น. ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ ผศ. ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G โรงพยาบาลศิริราช
ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากโครงการที่ บพข. ให้การสนับสนุนทุน แก่ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาข้อจำกัดของการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมที่มีภาวะกระดูกเบ้าสะโพกแตกหรือสึกกร่อนรุนแรง ซึ่งไม่สามารถใช้ข้อสะโพกเทียมแบบมาตรฐานได้ จึงต้องมีการสั่งซื้อข้อสะโพกเทียมจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงมาก ใช้ระยะเวลาในการขนส่งนาน ทำให้บางครั้งไม่ทันต่อการรักษาและไม่พอดีกับร่างกายของผู้ป่วย ดังนั้น นวัตกรรมการผลิตสามมิติเฉพาะบุคคลจึงเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยเทคโนโลยีนี้จะสามารถผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้นๆ เพื่อใช้ทดแทนกระดูกเบ้าสะโพกที่แตกหรือสึกกร่อน ซึ่งจากการทดสอบรักษาจริงกับผู้ป่วย 2 ราย นั้นได้ผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถขยับขาได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ความสำเร็จในการจัดตั้งโรงงานผลิตกระดูกไทเทเนียมในโรงพยาบาลซึ่งเป็นจุดบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย (Point-of-Care: POC) ช่วยลดระยะเวลาในการรอคอยของผู้ป่วยได้อย่างมาก ทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 6-7 เท่า จึงเป็นการลดเงินไหลออกนอกประเทศ
คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า “การผลิตกระดูกเบ้าสะโพกเทียมด้วยเทคโนโลยี 3D printing และนำไปใช้ผ่าตัดผู้ป่วยจริงที่ รพ.ศิริราช เป็นครั้งแรก ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์และนวัตกรรมไทย แสดงถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทย รวมถึงความสามารถของผู้ประกอบการไทย ขอชื่นชมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และทุกภาคส่วนที่ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่มั่นคงอีกครั้ง โดยเฉพาะ บพข. ที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จเชื่อว่าความสำเร็จนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด”
รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวเสริมว่า “บพข. มีภารกิจหลักในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคบริการ เรามุ่งเน้นสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โครงการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลนี้ เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการนำงานวิจัย Deep Tech ทางการแพทย์มาต่อยอดสู่การใช้งานจริง และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหมอและวิศกร ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบสูง ทั้งต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย และต่ออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ความสำเร็จนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยและความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมที่ บพข. และ อว. ร่วมกันผลักดัน เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างตลาดนวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวเสริมว่า “ความร่วมมือกับ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด และการสนับสนุนทุนจาก บพข. ทำให้ศิริราชสามารถพัฒนานวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์สามมิติเฉพาะบุคคล ควบคู่ไปกับกระบวนการวางแผนการผ่าตัดแบบดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว การที่เราสามารถผลิตกระดูกไทเทเนียม 3 มิติได้เองภายในโรงพยาบาล ถือเป็นแห่งแรกของโลก (The First Factory in a Box at Hospital Point-of-Care) ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วยได้อย่างมาก และเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดที่ซับซ้อน ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา มีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นวัตกรรมนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยกระดับวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป”
ศ. นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อธิบายถึงกระบวนการว่า “เริ่มจากการทำ CT Scan ผู้ป่วย จากนั้นทีมแพทย์ศิริราชและวิศวกรจาก บจก. ออส ทรีโอ จะร่วมกันออกแบบกระดูกเบ้าสะโพกเทียมให้เหมาะกับกายวิภาคของผู้ป่วยแต่ละราย ก่อนจะพิมพ์ชิ้นส่วนจำลอง และผลิตชิ้นส่วนจริงด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ติดตั้งภายในโรงพยาบาล ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 สัปดาห์ นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยที่เคยหมดหวังกลับมาเดินได้อีกครั้ง”
ผศ. ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการฯ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด กล่าวว่า "ในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยี เรารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในความสำเร็จครั้งนี้ และเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมายกระดับการแพทย์ นวัตกรรม 'Factory in a Box' หรือการย่อส่วนกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนทั้งหมดให้อยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กเทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์เพียงตู้เดียว มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้เราสามารถติดตั้งระบบการผลิตภายในโรงพยาบาลได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ รองรับกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ การผลิต จนถึงการนำไปใช้งาน ซึ่งเป็นการผลักดันให้เกิดการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงครับ"
โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่ติดตั้งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จาก ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย รศ. นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวว่า "ศูนย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความซับซ้อน จึงสนับสนุนพื้นที่ 60 ตารางเมตร สำหรับติดตั้งเครื่องมือ และพร้อมผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจต่อไป"
ความสำเร็จในการผลิตกระดูกเบ้าสะโพกไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยการพิมพ์ 3 มิติ ณ จุดบริการ (Point-of-Care) นี้ ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิวัติการรักษาผู้ป่วยโรคข้อสะโพกที่ซับซ้อน แต่ยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของ บพข. ในการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริง สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ณิศชเนตร์ ชิตะปัญญา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
โทร 092-336-4482 อีเมล nischanade.chi@nxpo.or.th
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.