สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) โดยการสนับสนุนของ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “นวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และพลาสติกชีวภาพ” ภายใต้การดำเนินโครงการนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และพลาสติกชีวภาพสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย พร้อมเผยแพร่ฐานข้อมูลระบบการจัดการขยะอินทรีย์และพลาสติกชีวภาพในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งให้เกิดการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น สามารถส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อการสร้างวินัยในการจัดเก็บขยะตามหลักสุขาภิบาล พร้อมระดมนักวิชาการแบ่งปันความคิด ข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติ ในเวทีเสวนา “ร่วมมือกันจัดการขยะอินทรีย์ด้วยพลาสติกชีวภาพ” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 200 คนจากภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
พล.ต.รศ.ดร.ชัยณรงค์ เชิดชู นายกสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ว่า กระบวนการจัดการขยะอินทรีย์ที่ดี มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา หน่วยงานระดับท้องถิ่นและประชาชน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในการสัมมนาครั้งนี้จะช่วยจุดประกายความคิดในการระดมสมอง เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายระดับประเทศ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ของรัฐบาลที่มุ่งสู่ BCG Model เพี่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตแบบก้าวกระโดดบนฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า วว. และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ได้รวบรวมข้อมูลระบบการแปรรูปขยะอินทรีย์และขยะพลาสติกชีวภาพให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่ระบบครัวเรือนจนถึงระบบอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อภาคการเกษตร การบริหารจัดการขยะอินทรีย์ของประเทศ โดยผู้สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ Facebook TISTR ทั้งนี้ขยะอินทรีย์มักถูกทิ้งรวมขยะอื่นๆ ก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการขยะในภาพรวม แนวทางหนึ่งในการลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การนำขยะอินทรีย์มาผ่านกระบวนการหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แล้วนำกลับมาไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช การจัดกิจกรรมสัมมนาครั้งนี้มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดปริมาณและแยกประเภทขยะอินทรีย์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของชุมชนและองค์กรต่อไป อันจะก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและนำไปสู่ความยั่งยืนจากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดมลพิษของประเทศ
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวถึงบทบาทของพลาสติกชีวภาพช่วยจัดการขยะอินทรีย์ได้อย่างไรว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัตถุดิบที่เป็นต้นน้ำในการผลิตพลาสติกชีวภาพในระดับโลก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และยังเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพอยู่ในระดับโลกเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ดีปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพภายในประเทศยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ แม้นว่าภาครัฐและเอกชนจะหันมาให้ความสำคัญในการวิจัยพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ให้มีการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน เพื่อการบริหารจัดการให้มีการใช้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าพลาสติกชีวภาพไม่สามารถมาแทนที่การใช้พลาสติกได้ แต่เป็นทางเลือกในการบริหารจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โลกเรานั้นยังต้องอาศัยพลาสติกอยู่ แต่เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับคุณสมบัติของพลาสติกที่ถูกสร้างมาให้มีช่วงระยะเวลาการใช้ที่ยาวนาน แต่มนุษย์เรานั้นนำมาใช้ประโยชน์สั้นเกินไปและใช้ไม่คุ้มค่า จึงก่อให้เกิดการสะสมของปริมาณขยะตามมา
ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวถึงนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และพลาสติกชีวภาพว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีความสนใจนำวัสดุเหลือทิ้งอินทรีย์จากครัวเรือน ชุมชนและอุตสาหกรรมเกษตรมาใช้ในการผลิตสารปรับปรุงดิน/ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนและลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการเกษตรแบบปลอดภัย โดยมีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งหลายภาคส่วนได้ศึกษาพัฒนาขึ้นและสามารถนำไปใช้ได้จริง อาทิ เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ย/การหมักปุ๋ยระดับครัวเรือนเป็นการแก้ปัญหาการกำจัดเศษอาหารให้มีประโยชน์อีกครั้ง ต้นแบบการจัดการขยะระดับชุมชน เช่น การเลือกใช้สิ่งของและผลิตภัณฑ์ที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นมาตรการลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดขยะตั้งแต่ต้น การยึดหลักการที่ว่าขยะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การจัดการขยะอินทรีย์และพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมคือ ช่วยลดปริมาณขยะ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากขยะอินทรีย์ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยในการทำการเกษตร สามารถใช้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้สภาพดินดีขึ้น ลดปริมาณของเหลือทิ้งทางการเกษตรในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรลงได้มาก ขยายพื้นที่การเกษตรโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มขึ้น สร้างงานให้กับคนในบริเวณโรงงานและพื้นที่ใกล้เคียง และเกิดการหมุนเวียนของการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ในงานสัมมนายังมีกิจกรรม เสวนาเรื่อง “ร่วมมือกันจัดการขยะอินทรีย์ด้วยพลาสติกชีวภาพ” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีข้อสรุปดังนี้
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีระบบการจัดการขยะที่ดี ทำให้เกิดปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขยะจากอาหาร คือ การสูญเสีย ทั้งนี้มีรายงานว่า ปริมาณอาหาร 1 ใน 3 ของโลกสูญเสียไปกับกระบวนการต่างๆ นับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรและต้นทุนในการผลิตและการขนส่ง ขยะพลาสติกในไทยมีปริมาณ 12% หรือ 2 ล้านตันของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งมีการจัดการขยะไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย ขยะต้องนำไปจัดการให้ถูกต้อง ทั้งระบบขนส่ง ระบบจัดการ จะต้องมีระบบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การฝังกลบ จะต้องมีการคลุมด้วยพลาสติก เพื่อไม่ให้รั่วไหลลงสู่น้ำใต้ดิน กรณีการเผา ต้องมีระบบบำบัดมลพิษต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนไทยในการคัดแยกขยะ ประเทศไทยต้องมีความชัดเจนในด้านนโยบายการบริหารจัดการ มีกฎระเบียบที่ชัดเจน จึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหา
นายศิริรัตน์ บำรุงเสนา ผู้อำนวยการกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ มีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์แล้ว 262 กลุ่ม เพื่อการบริหารจัดการขยะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยมีการแบ่งกลุ่มพื้นที่ออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ 1. Size L มีปริมาณขยะมากกว่า 500 ตันต่อวันมี 11 กลุ่ม 2. Size M มีปริมาณขยะ 300 - 500 ตันต่อวันมี 11 กลุ่ม และ 3. Size S มีปริมาณขยะน้อยกว่า 300 ตันต่อวันมี 240 กลุ่ม ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่มีการจัดเก็บค่าบริการได้ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้น จึงมีส่วนต่างที่ภาครัฐต้องรับภาระจำนวนมาก แทนที่จะใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อสวัสดิการประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่สังคมต้องร่วมมือกันก็คือ ลดปริมาณขยะเพื่อลดการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามแต่ละจังหวัดมีบริบทที่แตกต่างกันต้องคัดสรรวิธีการที่เหมาะสมและให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า
นางสาววานิช สาวาโย ผู้อำนวยการส่วนลดและใช้ประโยชน์ของเสีย กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ในปี 2562 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 28.71 ล้านตัน มีการสร้างขยะประมาณ 1.18 กิโลกรัม/คน/วัน ทั้งนี้กฏหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะพลาสติกโดยตรงยังไม่มี เป็นเพียงมาตรการที่เกี่ยวข้อง เช่น การรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งนี้เป็นโจทย์ที่ภาครัฐจะขับเคลื่อนขยายผลต่อไปในส่วนต่างๆ เช่น ตลาดสด ร้านขายของชำ ที่มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกจำนวนมาก ปัจจุบันมีคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการเชื่อมโยงให้มีการ งด เลิก ใช้ พลาสติก ซึ่งจะตอบโจทย์กับปัญหาปัจจุบัน
ดร.เรวดี อนุวัฒนา นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. กล่าวว่า หากมีการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องมีการนำเทคโนโลยีในการบริหารจัดขยะเข้าไปใช้ในพื้นที่จริง จากกรณีการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการย่างยั่งยืน ระหว่าง วว. อบต.ตาลเดี่ยว และจังหวัดสระบุรี ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยีการคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติ ที่สามารถรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่ 20-40 ตันต่อวัน โดยเน้นสัดส่วนการรีไซเคิลและแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เทคโนโลยีในการคัดแยกชนิดและสีพลาสติกพร้อมระบบผลิตเกล็ดและเม็ดพลาสติกคุณภาพสูง กำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วย ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF) รวมถึง นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนจากขยะหรือของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ส่งผลให้มีการเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิล คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพ ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมจากขยะและน้ำเสีย
ดร.วันทนีย์ จองคำ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า ขยะอินทรีย์ในประเทศมีปริมาณปีละ 17.28 ล้านตัน สามารถนำมาคัดแยกขยะจากต้นทางโดยใช้ถุงพลาสติกชีวภาพ จะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ถึงปีละ 11.52 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้นกับประเทศถึง 115,200 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าโอกาสของพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเกิดขึ้นคือ การขยายผลรูปแบบการจัดงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยใช้พลาสติกชีวภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ รัฐบาลกำหนดนโยบายการคัดแยกขยะต้นทางโดยใช้พลาสติกชีวภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชนและจังหวัด โดยทำงานร่วมกับกลุ่มพลาสติกเพื่อผลักดันให้เกิด Circular Economy อย่างครบวงจร รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการขยะพลาสติกในรูปแบบของการจัดเก็บภาษีเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้จัดทำระบบการขยะของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืนของประเทศ โดยควรมีงานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูรองรับ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.