21 กันยายน 63 ณ ห้องประชุม Visionization ชั้น 6 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA)
จัดพิธีรับมอบข้อมูลการกระเจิงของแสงจากผลการฉายแสงซินโครตรอนกับโครงสร้างผลึกโปรตีนอวกาศ จากผลงานวิจัยหัวข้อ “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ปรึกษา สวทช. เป็นประธาน
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน การทดลองงานวิจัยในอวกาศเป็นเรื่องน่าสนใจของหลายมหาวิทยาลัยในประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการวิจัยเรื่องผลึกเหลว หรือ Liquid Crystals ในอวกาศ หรือ มหาวิทยาลัยมหิดล กับการทดลองเพาะเลี้ยงพืชตระกูลไข่น้ำในอวกาศ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เกิดแรงบันดาลใจในการทดลองงานวิจัยในอวกาศ จากการดำเนินงานของ โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ หรือโครงการ National Space Exploration ของ สทอภ. โดยความร่วมมือกับ สวทช. และประเด็นที่สำคัญ คือ งานวิจัยเรื่อง “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศ” ของ ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส จาก ไบโอเทค สวทช. เป็นงานวิจัยไทย งานแรก ที่ สทอภ. ได้ผลักดันให้ไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้สำเร็จ ซึ่งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีงานวิจัยของคนไทยเพื่อคนไทยบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเป็นครั้งแรกที่มีธงชาติไทยไปปรากฎบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS พร้อมตราสัญลักษณ์หน่วยงานของไทย อันประกอบด้วย สทอภ. สวทช. และ ไบโอเทค และนี่คือที่มาของงานพิธีรับมอบข้อมูลผลึกโปรตีนอวกาศ ที่ สทอภ. ร่วมกับองค์กรพันธมิตรได้ดำเนินการส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศ โดย JAXA ได้ดำเนินการส่งงานวิจัยของไทยไปทดลองให้บนสถานีอวกาศ เป็นจำนวนทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน จนได้ผลผลึกโปรตีนอวกาศที่สมบูรณ์และมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการวิเคราะห์เพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียต่อไป
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศในการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก สำหรับการทำวิจัยโดยใช้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศช่วยให้การทำงานวิจัยในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่สามารถทดลองได้บนโลก สามารถได้ผลการทดลองใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก อย่างเช่นงานวิจัย“การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ที่เราอาจจะได้ยาต้นมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ซึ่งนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของนักวิจัย สวทช. อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้ส่งขึ้นไปทดลองบนอวกาศความร่วมมือกับ จิสด้า และแจ็กซา ในโอกาสต่อไป
ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า งานต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการกระเจิงของแสงเพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนซึ่งเป็นเป้าหมายยาต้านมาลาเรียนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลโครงสร้างโปรตีนที่ได้จากการปลูกผลึกบนโลก และหวังว่าจะได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการออกแบบยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลก
ด้าน นายโอโนะ อิสึชิ (Mr.Ono Atsushi) ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่มีคุณค่าจำนวนมาก งานวิจัยการปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศถือเป็นอีก 1 งานวิจัยที่มีคุณค่าและความสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการสาธารณสุขโลก JAXA ในฐานะที่มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ตลอดจนห้องปฏิบัติการทดลองในอวกาศ มีความพร้อมและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อไป
สำหรับโครงการ National Space Exploration (NSE) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานวิจัยไทยไปสู่การทดลองในอวกาศและพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมอวกาศ เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยต่อไป ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ National Space Exploration (NSE) ได้ที่เว็บไซต์https://www.nstda.or.th/nse หรือแฟนเพจ National Space Exploration
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.