องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับ อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา ผลักดันและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์และสงวนรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน ผ่านการสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่แบบ Taxidermy ชุบชีวิตซากสัตว์ให้คงสภาพเหมือนยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด หวังสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ประชาชนทั่วไป
ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีศูนย์บริหารคลังตัวอย่างทางธรรมชาติวิทยาและสัตว์สตัฟฟ์ (Taxidermy) ที่มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ สถานที่ และคลังวัสดุตัวอย่างที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการความร่วมมือที่ได้ทำร่วมกับทางอุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา โดยการนำสัตว์ที่เสียชีวิตแล้วมาให้ อพวช. สตัฟฟ์ เพื่อนำไปจัดแสดงนิทรรศการ เป็นการส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้รวมถึงช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนของสังคมต่อไปในอนาคต”
ด้าน คุณส่วน พนมวัฒนากุล ประธานบริษัทอุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา จำกัด กล่าวว่า “อุทยานหินล้านปีฯ พร้อมผนึกกำลังกับ อพวช. ในการร่วมกันสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสังคมให้เห็นคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศวิทยาที่มีต่อการพัฒนาประเทศ”
ที่ผ่านมา อพวช. ได้ดำเนินการสตัฟฟ์ “ม้าลาย” ที่ได้มาจากทางอุทยานหินล้านปีฯ ซึ่งปัจจุบันนำมา จัดแสดงที่ อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้กันอย่างใกล้ชิด และล่าสุดได้รับซากสัตว์จากทางอุทยานหินล้านปีฯ มาดำเนินการอีก อาทิ จระเข้น้ำเค็มขนาด 4 เมตร จำนวน 1 ตัว, จระเข้ลูกผสมน้ำเค็มขนาด 2.5 เมตร จำนวน 1 ตัว เพื่อนำมาสตัฟฟ์ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการถ้าแล้วเสร็จจะดำเนินการส่งกลับไปเพื่อจัดแสดงต่อที่อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้ พัทยา ต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.