ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในฐานะตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน ในการจัดงาน ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS 2020 เวทีระดมสมองให้เกิดแนวทางการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทางฯ การผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ โดยเป็นการประชุมหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานในต่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการนำเสนอข้อริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในอาเซียน ระหว่างวันที่ 16 - 20 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดงานแถลงข่าวการจัดงาน ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS2020 เพื่อเป็นเวทีระดมสมองให้เกิดแนวทางการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทางฯ การผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ โดยเป็นการประชุมหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานในต่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการนำเสนอข้อริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในอาเซียน โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด อว. ผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา ฝ่ายเลขานุการอาเซียนจากคณะกรรมการสาขาต่างๆ เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติม และนำเสนอกิจกรรมที่สามารถร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต โดยมี รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมแถลง ณ ชั้น 1 อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563
รศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง เนื่องจากในปัจจุบันมีการมุ่งเน้นด้านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียนทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่จับตามองจากกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่มองเห็นผลประโยชน์ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ นำไปสู่ความร่วมมือหลากหลายสาขาทั้งในระหว่างประเทศสมาชิก และการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งการสร้างความร่วมมือที่สำคัญ คือ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ทางด้าน สม. มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับองค์กรและหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีของกระทรวงในภาพรวม และประเทศไทยได้เสนอการจัดทำแผนที่นำทางด้านนวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN Innovation Roadmap: AIR) ให้เป็นประเด็นผลักดันในโอกาสที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งมีการหารือและระดมสมองจากผู้แทนหลายหน่วยงานในสังกัด อว. ผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อจัดทำร่างเอกสาร และได้รับการรับรองจากคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อประกาศใช้ในปี 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับ ASEAN Innovation Roadmap ทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ที่มีความเป็นปัจจุบัน และเป็นสากล ในการดำเนินความร่วมมือ ด้าน วทน. ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมีการผนวกประเด็นเร่งด่วนที่เห็นพ้องกันว่ามีความสำคัญ และประเด็นที่ได้รับการเสนอจากผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบจากการนำความรู้และนโยบายด้าน วทน. มาบูรณาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีการมุ่งเน้นและจัดลำดับความสำคัญ และมีแนวทางการดำเนินกรอบความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถพิจารณาถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับวิทยาการ และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ก้าวทันโลก เช่น เทคโนโลยี Block chain, AI, 3D Printer, ผนวกกับการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร Up-skill and Re-skill เพื่อรองรับกับนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้ระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบซึ่งเอื้อต่อการใช้นวัตกรรมและธุรกิจ Start-ups การพัฒนาความคิดในการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคม นอกจากนี้ การดำเนินความร่วมมือด้าน วทน. ดังกล่าว ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละเป้าหมาย (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม
“ในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังตกต่ำ เราทุกคนมักพูดเสมอว่าควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นี้ จะเป็นช่วงที่เราสามารถมองเห็นโอกาสได้ ไม่แน่ว่าไอเดียบางไอเดียหรือประโยคบางประโยคที่เราได้รับฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ อาจจะเปลี่ยนชีวิตเราหรือทิศทางของบริษัทไปสู่ทิศทางที่สอดรับกับนวัตกรรมธุรกิจมากขึ้น” รศ.พาสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำหรับงานการประชุมนานาชาติด้านเศรษฐกิจชีวภาพของโลก “Global Bioeconomy Summit: GBS” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดย International Advisory Council on Global Bioeconomy (IAC) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเหล่าผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงภาคประชาสังคมในระดับนานาชาติ โดยได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม
สำหรับการจัดงานในปี 2563 นี้ นับเป็นครั้งที่ 3 มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2563 ณ Berlin Conference Center (BCC) กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในฐานะตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คณะกรรมการจัดงานจึงมีมติให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน จากการจัดงานในรูปแบบเดิมซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นการจัดงานในรูปแบบของ Virtual Event ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดการบรรยาย และกิจกรรมต่าง ๆ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ควบคู่ไปกับการรับสัญญาณการถ่ายทอดสดจากประเทศเจ้าภาพร่วมไปยังผู้ร่วมงานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อลดความหนาแน่นและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดงานยังให้ขยายระยะเวลาจัดงานเป็นระหว่างวันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2563 โดยอนุญาตให้เจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม
เขียนข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพวีดิโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร สำนักบริหารกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.