(23 พฤศจิกายน 2563) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เยือนจังหวัดพิจิตร แลกเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาความรู้และการนำเทคโนโลยีไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเป็นการ Train the Trainer ในการอบรมค่าย CODING ด้วยอุปกรณ์ KidBright NECTEC ครั้งที่ 1 เพื่อโรงเรียนในจังหวัดพิจิตร ณ หอประชุมใหญ่ โรงเรียนสระหลวงพิทยาคม อ.เมือง จ.พิจิตร
ดร.กิติพงค์ ได้แลกเปลี่ยนถึงการเตรียมความพร้อมของครูผู้สอนที่จะต้องมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางการเรียนการสอนเด็กให้สามารถเติบโตเพื่อรับมือกับในโลกอนาคตที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งประเด็นที่คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น (สังคมสูงวัย), AI จะเข้ามาแทนที่แรงงาน, รูปแบบของพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน ตลอดจน ดิจิทัลที่จะทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ เช่น การเรียนออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ โลกยุคใหม่วิถีชีวิตของคนจะเป็นรูปแบบ Multi-Stage Life ที่ไม่ใช่แค่เพียงเรียนจบ ทำงาน และเกษียณ แต่จะกลายเป็นเรียนควบคู่การทำงาน เช่น เรียนจบมัธยม จากนั้นออกไปทำงานพร้อมเรียนต่อ อาจจะทำงาน 3 - 5 ปี และกลับมาเรียนใหม่ในสาขาวิชาใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องได้วุฒิปริญญา (Non Degree) เรียนเป็นลักษณะ Module สะสมหน่วยกิตเก็บไว้และเมื่อได้หน่วยกิตตามที่กำหนด สามารถนำไปขอวุฒิปริญญาได้ อย่างไรก็ตาม แม้วิถีของช่วงชีวิตคนจะมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือการมีทักษะที่จำเป็นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้าน คือ 1. ความรู เช่น Digital Literacy หรือทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2. สมรรถนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้สามารถทำบางอย่างได้ เช่น การคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาได้ การสื่อสาร และ 3. คุณลักษณะ (ที่พึงประสงค์) เช่น ความอดทน การปรับตัว เป็นต้น
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ คือ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม
“จะเห็นได้ว่าการเพิ่มมูลค่านั้นต้องอาศัยเทคโนโลยี และดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาช่วย เช่น ด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ จนถึงการขาย รวมถึงการเกษตรแม่นยำ ที่มีการนำเซนเซอร์เข้ามาใช้เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำ ปุ๋ย ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ประหยัดการใช้ทรัพยากร เท่าที่จำเป็น การใช้โดรนเพื่อฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและแรงงานคน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนด้านการตลาด การขายสินค้าทางการเกษตรออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้น ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ การสร้างโมเดลทางธุรกิจ การเรียนรู้เกี่ยวกับ Design Thinking จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาเด็กในปัจจุบัน” ดร.กิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่า และพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โครงการ 7 Innovation Award ที่มีแนวคิดนำผลงานวิจัยที่มีอยู่ในแต่ละองค์กรและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ผู้ประกอบการ SMEs มีอยู่ มาทำการทดสอบหรือทดลองกับกลุ่มลูกค้าหรือผู้บริโภคในตลาดจริง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลงานนวัตกรรมที่สูงขึ้นในระดับประเทศต่อไปนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่าการใช้เทคโนโลยีร่วมกับความรู้ทางธุรกิจ สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จได้ รวมถึงโปรแกรม PADTHAI (Program for Acceleration and Development for Thai food SMEs) ภายใต้เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ซึ่งเป็นโปรแกรมพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ SMEs ไทยด้านอาหาร โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาแหล่งทุน จนถึงผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด
อีกทั้ง ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับความหลากหลายของอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความต้องการกำลังคนในสาย STEM (STEM: Science, Technology, Engineering and Mathematics) (STEM Workforce) ในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตและยานยนต์แห่งอนาคต การเรียนการสอนจึงควรเน้นการพัฒนานักเรียนรายบุคคล ที่ไม่เน้นเฉพาะเด็กเก่งหรือผลการศึกษาดี เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่าง มีความหลากหลายด้านทักษะที่ต้องอาศัยการพัฒนาเฉพาะด้านแตกต่างกัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.