7 ธันวาคม 2563 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผู้ได้รับเป็นนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2563 จำนวน 3 ท่าน (ตามลำดับอักษร) ได้แก่ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงการวิจัย “ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์กว้าง: การเตรียมพร้อมต่อโรคติดเชื้ออุบัติใหม่” ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัย “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต” และ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากโครงการวิจัย “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ
เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน/นิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารชนิดใหม่” เพื่อให้นักวิจัยที่มีศักยภาพสูง เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัยที่เข้มแข็งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างสรรค์งานวิจัยใหม่หรือต่อยอดงานวิจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงระหว่างภาคความรู้ พร้อมยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล็งเห็นว่าการเสริมสร้างฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้เข้มแข็ง เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น จึงได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทุ่มเททรัพยากรต่างๆ ให้กับการวิจัย ที่เป็นโจทย์สำคัญและท้าทายของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายการวิจัย ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ
โครงการนักวิจัยแกนนำ นอกจากจะเป็นกลไกที่ สวทช. นำมาใช้สนับสนุนนักวิจัยศักยภาพสูงให้เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัยและหวังผลได้ สวทช. ยังนำมาใช้ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย สร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้าทาย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
ในปีนี้ได้มีนักวิจัยที่ส่งข้อเสนอโครงการวิจัย จำนวน 21 โครงการ โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์สนับสนุนนักวิจัย จำนวน 3 ท่าน ประกอบด้วย นักวิจัยด้านการแพทย์ 1 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากโครงการวิจัยเรื่อง “ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์กว้าง: การเตรียมพร้อมต่อโรคติดเชื้ออุบัติใหม่” และนักวิจัยด้านอาหาร 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต” และศาสตราจารย์ ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากโครงการวิจัยเรื่อง “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุเศษเหลือ จากการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน / นิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารชนิดใหม่” โดย สวทช. จะสนับสนุนงบประมาณวิจัย จำนวน 20,000,000 บาท ต่อโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี รวมงบประมาณ 60,000,000 บาท
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการคณะกรรมการด้านการส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยแกนนำ กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโครงการนักวิจัยแกนนำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนนักวิจัยศักยภาพสูงที่มีความเป็นผู้นำ ให้เกิดการรวมกลุ่มทำวิจัย ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยคุณภาพสูงในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ปัจจุบันนักวิจัยแกนนำ สวทช. มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ท่าน จาก 23 โครงการวิจัย เป็นนักวิจัยแกนนำด้านการแพทย์ 11 ท่าน ด้านเกษตรและอาหาร 2 ท่าน ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ 2 ท่าน ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 3 ท่าน และด้านการก่อสร้าง 2 ท่าน นักวิจัยแกนนำและทีมวิจัยได้สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาที่เชี่ยวชาญ สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูงในรูปแบบผลงานวิชาการในวารสารระดับนานาชาติ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สิทธิบัตร อีกทั้งยังได้พัฒนากำลังคนทางด้านการวิจัยจำนวนมาก ประกอบด้วย นักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และนักวิจัยหลังปริญญาเอก“ผลงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของนักวิจัยแกนนำทั้ง 3 ท่าน จะมุ่งเน้นทั้งงานวิจัยในเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ บทความวิชาการ ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ต้นแบบเทคโนโลยี และสิทธิบัตร รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์" ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ศาสตราจารย์ นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าโครงการวิจัยเรื่อง “ยาต้านไวรัสออกฤทธิ์กว้าง: การเตรียมพร้อมต่อโรคติดเชื้ออุบัติใหม่” สืบเนื่องจาก โรคติดเชื้ออุบัติใหม่จากไวรัสกำลังเป็นวิกฤติการณ์ของโรคจากการระบาดของโควิด -19 และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกได้เรื่อยๆ นอกจากโรคไวรัสจะแพร่ระบาดได้รวดเร็วแล้ว สิ่งที่ทำให้การรับมือกับโรคระบาดมีความยุ่งยากคือการที่ไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งนี้เพราะยาต้านไวรัสในปัจจุบันออกฤทธิ์เพียงแคบๆ ต่อไวรัสเฉพาะกลุ่ม เมื่อมีไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้นจึงไม่มียารักษา และการพัฒนายาใหม่ก็ต้องใช้เวลานานไม่ทันกับความต้องการในการรับมือกับการระบาด การพัฒนายาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้างจะทำให้มียาที่พร้อมจะใช้กับไวรัสใหม่ๆ ช่วยให้โลกสามารถรับมือกับการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้ดีขึ้นในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวโดยสรุปว่า โครงการวิจัย “การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการผลิตอาหารแห่งอนาคต” มีเป้าหมายที่จะศึกษาและพัฒนานวัตกรรมการผลิตอาหารและส่วนประกอบของอาหาร (food ingredients) ที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กระบวนการต่าง ๆ ที่นำเสนอเป็นกระบวนที่เน้นการนำวัตถุดิบที่หาง่าย ราคาถูก มาเพิ่มคุณค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้หลากหลาย ทั้งในแง่ของการใช้เป็นส่วนผสมเพื่อปรุงแต่งอาหารให้สวยงาม เป็นสารเติมแต่งอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยสร้างเสริมสุขภาพและความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคในทุกช่วงอายุ
ศาสตราจารย์ ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการวิจัย เรื่อง “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุ เศษเหลือ จากการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน / นิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารชนิดใหม่” เป็นการพัฒนาวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ ให้เป็นสารประกอบฟังก์ชัน/สารนิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านต่างๆ คือ การสกัดและพัฒนาสารออกฤทธิ์ การวิจัยกลไกการออกฤทธิ์ของสารและตรวจติดตามโดยใช้เทคนิคโปรติโอมิกส์ การวิจัยในระบบย่อยอาหารจำลองมาตรฐาน สัตว์ทดลองและมนุษย์ เพื่อให้ได้สารนิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารที่มีความคงตัวและความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ในปัจจุบันมีวัสดุเศษเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการจัดระบบฟาร์มเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จและความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนสภาพของวัสดุเศษเหลือที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการของตลาดและมีมูลค่าสูงจึงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกันสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสีย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.