สกสว. หนุนคณะวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ สำรวจเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมสำหรับทำเอกสาร “ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก” และข้อมูลสนับสนุนแผนการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนภายใต้การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน ชี้ปรางค์ฤาษีที่มีการเอียงตัวทางด้านข้าง และอาจมีโครงสร้างโบราณสถานหรือโบราณวัตถุฝังอยู่ข้างใต้ เตรียมหารืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและกรมศิลปากรวางแผนการขุดค้น
ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการนำเสนอ เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก โดยประเทศไทยจะต้องจัดส่งเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเข้าวงรอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าชุดโครงการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม ระยะที่สอง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาหลักของงานวิจัยครั้งนี้ โดยนำองค์ความรู้ที่คณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นจากโครงการวิจัยระยะแรกที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามาผนวกกับการวิจัยเชิงลึกอันต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมสำหรับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก และเป็นแนวทางการศึกษาสำหรับแหล่งโบราณสถานอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับความคืบหน้าในการสำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพล่าสุด คณะวิจัยโครงการ “การสำรวจและประเมินความมั่นคงเพื่อการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก” ที่มี รองศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม เป็นหัวหน้าโครงการ ได้นำคณะนักวิจัยสำรวจภาคสนามเพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงโครงสร้างในสภาพปัจจุบันของโบราณสถานที่สำคัญของอุทยาน โดยผลการดำเนินงานประกอบด้วย การบันทึกภาพดิจิทัลจากการถ่ายภาพภาคพื้นดิน และถ่ายภาพมุมสูงโดยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อนำข้อมูลไปประมวลเป็นรูปทรง 3 มิติของโบราณสถาน รวมถึงเก็บข้อมูลตำแหน่งและขนาดของรอยร้าวหรือลักษณะการเสื่อมสภาพ ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนั้นยังสำรวจคุณสมบัติของชั้นดินบริเวณโดยรอบปรางค์ฤาษีที่มีการเอียงตัวทางด้านข้าง เพื่อใช้ในการประเมินสาเหตุชองการเอียงตัว รวมถึงแนวทางการปรับปรุงให้โครงสร้างมีความมั่นคงสืบไป
ขณะที่โครงการ “การใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลสำหรับงานวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์โบราณสถานหรืออาคารโบราณในชุมชน” นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยังคงเน้นการประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานโดยใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ สำรวจโบราณสถานหลัก 4 แห่ง ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์ฤาษี เขาคลังนอก และ เขาคลังใน ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ประเมินเสถียรภาพของโครงสร้างในสภาพปัจจุบัน พร้อมทั้งเป็นฐานข้อมูลเพื่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างโบราณสถานต่อไปในอนาคต นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้รวบรวมวัสดุโบราณ และวัสดุทดแทน ภายใต้ความอนุเคราะห์จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มาทดสอบในห้องปฎิบัติการเพื่อหาสมบัติทางกายภาพและทางกลของวัสดุตัวอย่าง อันเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์และประเมินโครงสร้างให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักศิลปากรในเขตพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงสามารถนำองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากโครงการนี้ไปต่อยอดเพื่อการพัฒนาและวางแผนกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของโครงการ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรภาครัฐ ชุมชน ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนผ่านกิจกรรมอนุรักษ์โบราณสถานในชุมชนใกล้บ้าน
ด้านโครงการ “การประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดี” ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการย่อย ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรดำเนินการสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบผสมผสานด้วยวิธีการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและธรณีเรดาร์บริเวณพื้นที่รอบ ๆ เขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ พบบริเวณที่มีค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้าสูงกว่าปกติ บ่งชี้ว่าอาจจะมีโครงสร้างโบราณสถานหรือโบราณวัตถุฝังอยู่ข้างใต้ ซึ่งจะนำผลการศึกษาที่ได้หารือกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและกรมศิลปากรเพื่อวางแผนการขุดค้นต่อไป และมอบผลการศึกษาที่ได้ให้เป็นงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
“นอกจากผลการดำเนินการวิจัยเบื้องต้นแล้ว คณะวิจัยยังได้วางแผนการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่แสดงถึงความพร้อมในการเตรียมแผนการอนุรักษ์โบราณสถานเหล่านี้ให้ยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ อันเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลกต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.นคร หัวหน้าชุดโครงการกล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.