วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2564) ณ ศาลาเรือนไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้านโยบายส่งเสริมงานวิจัยกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเพื่อรองรับอนาคตของระบบสาธารณสุขของประเทศ ประเดิมผลสำเร็จกับ 3 โครงการ (1) สร้างเครื่องช่วยหายใจเพื่อส่งต่อผู้ป่วย (2) สร้างหุ่นยนต์ฉายแสง UVC (3) สร้างประตูคัดกรองด้วยระบบ Heat Signature Pattern ผสานการเรียนรู้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น
นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าโครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายผลักดันสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและร่วมพัฒนาประเทศ โดยกระทรวง อว. ได้เล็งเห็นความสามารถทางด้านการพัฒนานวัตกรรม ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา และได้ส่งมอบให้หน่วยงานภาครัฐในการนำไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทีมแพทย์ในการเข้าพื้นที่เสี่ยงตรวจเชื้อในเชิงรุก ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขหลากหลายนวัตกรรม อาทิ ตู้ตรวจเชื้อความดันบวก ความดันลบ รถตู้ตรวจเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ พร้อมทั้งยังจัดตั้งศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ที่รวบรวมนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ประชาชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
“โดยในปี 2564 ทางกระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ จึงมีความตั้งใจจะผลักดันและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของนักวิจัย สจล. ให้มีความทันสมัยขึ้น สามารถตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนานักวิจัยให้มีความรู้ความสามารถ และนำไปใช้ประโยชน์รองรับสถานการณ์วิกฤติในประเทศไทย จึงได้สนับสนุนทุนการพัฒนานวัตกรรม ซึ่ง อว. เชื่อว่าในทุกปัญหาและวิกฤติย่อมก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติต่าง ๆ และกระทรวง อว.ยังคงเดินหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง” นายธนาภรณ์ กล่าว
ทางด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เกือบ 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งในอนาคตค่าใช้จ่ายของประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีแพทย์และวิศวกรที่มีความสามารถ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ใช้ได้เอง ดังนั้น สจล. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้เอง ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในการสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตภายในประเทศตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์จากต่างประเทศโดยอาศัยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) โดยมีแผนจะนำร่องในการวิจัยและผลิตนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง ด้วยการใช้ในโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMC hospital) ที่กำลังจะสร้างในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีแผนจะเป็นทั้งผู้นำในการรักษา การวิจัย และเป็นผู้นำนวัตกรรมทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบให้สามารถนำนวัตกรรมของ สจล. ไปใช้ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทดแทนการนำเข้า ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อแนวคิดดังกล่าวฯ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ซึ่งที่ผ่านมา สจล. ได้เดินหน้าผลิตและส่งมอบนวัตกรรมจำนวนมาก ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกจนกระทั่งรอบใหม่ โดยได้ส่งมอบนวัตกรรมแล้ว 805 ชิ้น ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข จำนวน 310 แห่ง ใน 66 จังหวัด อีกทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวน 39 ชิ้น เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนในด้านสุขอนามัยและใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงแบบเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น สจล.จึงมีความพร้อมในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมกันนี้ได้โชว์ความสำเร็จจากแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ล่าสุด โดยทีมวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษา สจล. จากการสนับสนุนงบประมาณของกระทรวง อว. จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1. สร้างเครื่องช่วยหายใจเพื่อส่งต่อผู้ป่วย มีการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจโดยใช้ blower ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดลม เช่นเดียวกับเครื่องช่วยหายใจที่ใช้ในโรงพยาบาล อาทิ ในห้อง ICU ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วย เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่โดยปกติจะต้องนำเข้าเพียงอย่างเดียว โดยสามารถจ่ายลมได้ต่อเนื่อง มีฟังก์ชันการทำงานได้มากกว่าเดิมและมีความเสถียรกว่ารุ่นเดิม สามารถปรับระดับการทำงานให้เหมาะสมกับคนไข้
2. สร้างหุ่นยนต์ฉายแสง UVC เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์ AGV (Automatic Guide Vehicle) ซึ่งข้อแตกต่างจากรุ่นเก่า คือ สามารถสร้างเส้นทางเดินของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องควบคุม และและมีโปรแกรมคำนวนระยะเวลาการฉายรังสี UVC ให้ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
3. สร้างประตูคัดกรองด้วยระบบ Heat Signature Pattern ผสานการเรียนรู้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ เป็นนวัตกรรมที่ผสานการเรียนรู้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ มีไฟสถานะ 3 สี ได้แก่ สีเขียว คือปกติ ส่วนสีเหลือง คือมีความผิดปกติบางอย่าง และสีแดง คืออุณหภูมิเกินกำหนด โดยติดตั้งกล้องเป็นตัวตรวจจับอุณหภูมิ เมื่อเดินผ่านหน้าจอจะแสดงผลเป็นสีต่างๆตามที่ตั้งค่า ระบบที่ใช้มีความแม่นยำในการวัดอุณหภูมิ สามารถแยกแยะผู้มีไข้หรือเข้าข่ายอาจจะมีไข้ได้ด้วยความรวดเร็ว อีกทั้งป้องกันปัญหาผู้ป่วยที่มีไข้จำนวนมากมีการระบายความร้อนได้จากเหงื่อ ทำให้อุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้ผู้ป่วยที่มีไข้จำนวนหนึ่งไม่ถูกตรวจสอบ
โดยทั้ง 3 โครงการ ได้รับการพัฒนานวัตกรรมขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนในทุกมิติ และนำไปใช้ได้จริงภายใต้สถานการณ์วิกฤติของประเทศ ทั้งนี้ สจล. เล็งเห็นถึงความตั้งใจของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระทรวง อว. ที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อคนไทย หากบุคลากรในประเทศไทยสามารถผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ใช้ได้เอง จะสามารถลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้และมีความตั้งใจที่จะสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยฝีมือคนไทย รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเยาวชน และบุคลากรไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวปิดท้าย
สำหรับหน่วยงานหรือผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับนวัตกรรมได้ที่ สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม (KRIS) หรือโทร. 084-068-7731
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.