ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับหน่วยผิวหนัง ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างงานวิจัยพัฒนาต้นแบบและวิธีการสอบเทียบมาตรรังสียูวี สำหรับการวัดรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพสำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงิน โดยมุ่งเน้นถึงประโยชน์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยยา ลดความแออัดของจำนวนผู้มารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางผู้ป่วย
โรคผิวหนัง ถึงแม้ว่ามีความเสี่ยงต่ำที่จะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก็ก่อความรำคาญรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน มีผลต่อจิตใจ ความมั่นใจและบุคลิกภาพของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคสะเก็ดเงิน” เมื่อป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงิน ความรุนแรงของผื่นผิวหนังอักเสบจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่มากระทบ โดยเฉพาะทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM2.5 อาจทำให้อาการของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินลุกลาม สร้างความทรมาน และเพิ่มความทุกข์ทางใจให้ผู้ป่วยได้
ที่ผ่านมาการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยวิธีการฉายแสงอาทิตย์เทียมนั้นให้ผลทางการรักษาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยเครื่องฉายแสงอาทิตย์เทียมทั่วประเทศมีเพียง 30 แห่งเท่านั้น ซึ่งนั่นกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคิวรักษาที่ยาวนาน จึงทำให้มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มมากขึ้น สร้างความแออัดให้กับพื้นที่ในโรงพยาบาล อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงที่เกิดจากการรักษาหากเครื่องมือที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนผู้ป่วยบางรายที่เป็นผู้มีรายได้ต่ำ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากในการเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล
จากข้อจำกัดดังกล่าว ทางคณะนักวิจัย จากฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ริเริ่มงานวิจัยเพื่อทดลองใช้แสงอาทิตย์ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Helio-therapy for anti-psoriasis treatment) ซึ่งจำเป็นต้องใช้มาตรรังสียูวี (UV meter) ในการตรวจวัดเพื่อหาค่าความรับรังสีที่มีประสิทธิผลต่อการรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Anti-psoriasis effective UV irradiance measurement) ดังนั้นจึงได้เข้าหารือกับนักวิจัยจากฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง (มว.) เพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกันโดยนำองค์ความรู้ด้านมาตรวิทยาสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบมาตรวัดรังสียูวี” เพื่อตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาหรือข้อจำกัดที่มีมาก่อนหน้านั้น โดยทีมวิจัยจากทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกันออกแบบฟังก์ชั่นการทำงานของเครื่องเพื่อให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับวิธีการรักษา
นอกจากฟังก์ชั่นการทำงานที่ตอบโจทย์การรักษาแล้ว วิธีการสอบเทียบมาตรรังสียูวีสำหรับการวัดแสงอาทิตย์นั้น เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลถึงประสิทธิภาพของการรักษา ซึ่งในเรื่องนี้ ทางทีมวิจัยจาก มว. ได้มีการพัฒนาต้นแบบมาตรวัดรังสียูวีมาตั้งแต่ปี 2563 (เริ่มโครงการ) โดยมีการเขียนซอฟต์แวร์ สร้างเครื่องมือค้นแบบและทำการสอบเทียบ (Calibration) เครื่องต้นแบบ ก่อนนำไปทดลองใช้จริงเพื่อให้ตรงกับความต้องการต่อการใช้งานและเพื่อสร้างความมั่นใจในการรักษา
อย่างไรก็ตามเครื่องต้นแบบมาตรวัดรังสียูวียังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และสะดวกกับการใช้งาน ทาง มว. ได้มีแผนพัฒนาเครื่องต้นแบบดังกล่าวให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ประมวลผลให้สามารถส่งข้อมูลการวัดแบบไร้สาย (Wireless transfer data) ผ่านระบบ Wi-Fi เพื่อนำข้อมูลขึ้นเว็ปไซต์อย่างทันท่วงที (Semi-real time) ซึ่งจะทำให้แพทย์ ผู้ป่วยหรือประชาชน หรือนักวิจัย สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที
ในอนาคตจะมีการประยุกต์ใช้เครื่องต้นแบบมาตรวัดยูวีมาเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสามารถนำมาใช้ในการติดตามค่าความรับรังสียูวี เพื่อทำการรักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยตัวเองที่บ้านได้ ซึ่งนั่นก็จะเป็นการลดความแออัดของพื้นที่ในโรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางไปโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ยังคงต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการวางแผนรักษาและการให้คำแนะนำในการรักษาโดยแพทย์ผิวหนังที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
รายชื่อนักวิจัย
หน่วยผิวหนัง ฝ่ายอายุรศาตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
1. อ.พญ.ไอณภัค บุญทวียุวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้แสงในการรักษาโรคทางผิวหนัง
2. คุณจารุวรรณ เพิ่มเจริญ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
1. ผศ.ดร.สุมามาลย์ บันเทิง
2. ผศ.ดร.สมเจตน์ ภัทรพานิชชัย
ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิและแสง สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
1. นายพลวัฒน์ จำปาเรือง
2. นายชยุฒม์ เจริญกิจ
3. นายพิเชษฐ์ วงษ์นุช
4. นางสาวจารุวรรณ พรมสิงห์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.