กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องในช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นการเฉลิมฉลองจะต้องมีการไหว้เจ้าและบรรพบุรุษที่เคารพนับถือ สิ่งของที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมต่างๆ คือ ธูป กระดาษเงิน และกระดาษทอง ที่ทำให้เกิดควันที่มีสารมลพิษ สารก่อมะเร็ง และไอระเหยโลหะหนัก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เมื่อสูดหายใจเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งทำให้ปวดศีรษะได้ โดยความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละบุคคล ปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับสัมผัสเป็นต้น
กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีข้อแนะนำในการจุดธูปหรือเผากระดาษเงินกระดาษทอง แบบ New Normal ที่ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอันตรายดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยขณะจุดธูปไหว้ และเผากระดาษเงินกระดาษทอง
2. เลือกธูปขนาดสั้นที่มีเนื้อธูปน้อยๆ เพื่อให้เกิดควันในระยะเวลาที่สั้นกว่าธูปขนาดยาว
3. หลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเทหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เมื่อเสร็จพิธีการควรดับธูปด้วยน้ำหรือทราย และเก็บธูปให้เร็วขึ้น
4. เผากระดาษเงินกระดาษทองนอกอาคารที่พักอาศัย โดยขณะเผาควรยืนอยู่เหนือลม
5. เผากระดาษเงินกระดาษทองทีละน้อยเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเขม่าเถ้ากระดาษ และไม่ควรเผาขณะที่มีเด็กหรือผู้คนเดินผ่านไปมา
6. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสก้านธูป ควันธูป และกระดาษเงินกระดาษทอง
วศ.โดย กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ ให้บริการทดสอบโลหะหนักในธูป 10 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณสารหนูเกินเกณฑ์กำหนด ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตธูปคือ ขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมที่สกัดจากส่วนของพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม พอกอยู่บนก้านไม้ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหรรมจึงได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมธูป (มอก. 2345-2550) เพื่อส่งเสริมให้การผลิตธูปมีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้ใช้ เกี่ยวกับสารเป็นพิษว่า ต้องไม่มีปริมาณโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม สารหนู และปรอทเกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยเกณฑ์กำหนดของโลหะหนักคือ 20, 10, 20, 2 และ 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ
สำหรับการทดสอบโลหะหนักในกระดาษเงินกระดาษทอง พบว่ามีปริมาณโลหะ ตะกั่วเล็กน้อย เรื่องสารเป็นพิษที่เกิดจากการเผากระดาษเงินและกระดาษทอง เป็นเรื่องที่นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ และคณะได้ศึกษาวิจัยไว้ พบว่ามีสารพาร์ (Polycyclic aromatic hydrocarbons, PAHs) เบนซีน และ 1,3-บิวทาไดอีน และไอระเหยของตะกั่วด้วย นอกจากนี้ยังพบโลหะหนัก 4 ชนิดคือ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว และแมงกานีส ในขี้เถ้าธูปและขี้เถ้าจากการเผากระดาษเงินและกระดาษทอง ซึ่งมีปริมาณมากกว่าในฝุ่นละอองในอากาศประมาณ 3-60 เท่า โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระดาษเงินกระดาษทองคือ เยื่อไม้หรือเยื่อไม้ไผ่ ผสมกับสารเติมแต่งต่างๆ มีทั้งฉาบด้วยตะกั่ว ทาสีคล้ายตะกั่ว และพิมพ์ระบบออฟเซ็ต ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกระดาษเงินและกระดาษทอง
ด้วยความห่วงใยจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในสถานะการณ์ปัจจุบันให้รักษาระยะห่างตามมาตรการ รักษาสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว และร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลบริการทดสอบ เพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค โทร 02-201 7348 ในวันและเวลาราชการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.