กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความห่วงใยประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้ที่ชอบการดื่มเบียร์ โดยนำเกร็ดความรู้มาแนะนำนักบริโภคเครื่องดื่มประเภทดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนการดื่มเบียร์เพื่อความสนุกสนานแต่ทำลายสุขภาพ มาเป็นการดื่มความสุนทรียะและส่งผลดีต่อสุขภาพกันดีกว่า
โดยทั่วไป “เบียร์” เป็นเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 0.5 ดีกรีขึ้นไป โดยมีกระบวนการหมัก “เวิร์ต” (wort) ด้วยยีสต์ ซึ่งเวิร์ตมาจากการต้มสกัดมอลต์ข้าวบาร์เลย์กับฮอป มีสารที่ให้ประโยชน์ ได้แก่ กรดโฟลิค กรดอะมิโน ซูโดยูริดีน ไกลซีนบีเทน เมลานอยดิน แซนโธฮิวมอล สารประกอบฟีนอลิก และมีโปรตีนและเส้นใยอาหาร ซึ่งผลงานวิจัยพบว่า เบียร์มีฤทธิ์ต้านสารก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ต้านไวรัสและHIV ต้านจุลินทรีย์ โรคกระดูกพรุน การกลายพันธุ์ ฤทธิ์ปกป้องหัวใจ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงจากภาวะสมองเสื่อม ชะลอความแก่ ป้องกันโรคเบาหวาน รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
การดื่มเบียร์จะมีผลดีต่อสุขภาพหากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รับสารที่เป็นประโยชน์โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าหากบริโภคเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% โดยปริมาตร ผู้หญิงควรดื่มไม่เกิน 12 ออนซ์/วัน และผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 24 ออนซ์/วัน ที่สำคัญควรตระหนักเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด อาจไม่เหมาะสมและอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในสภาวะร่างกายอ่อนแอหรือไม่พร้อม เช่น คนท้อง คนป่วย ผู้มีอายุต่ำกว่า 21 ปี คนชรา ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากสารในเบียร์ ได้แก่ เอทานอล ไบโอเจนิกเอมีน ไนโตรซามีน เพิ่มความเสี่ยง ในภาวะขาดวิตามิน ภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดโรคภูมิแพ้ เกิดการกลายพันธุ์และชักนำให้เกิดโรคมะเร็ง เพิ่มความดันในเลือด มีผลเสียต่อระบบย่อยอาหาร เช่น กระตุ้นการเกิดตับอักเสบ โรคตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบและเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเสื่อมและโรคอ้วน มีผลการศึกษาพบว่า การดื่มคราฟต์เบียร์ (craft beer) ในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus, HPV)
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จึงมีข้อแนะนำในการเลือกผลิตภัณฑ์เบียร์ที่มีคุณภาพตาม มอก. 2090-2544 สารปนเปื้อนต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นั่นคือ 1.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร 2.ทองแดง ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร และ 3.เหล็ก ไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เดซิเมตร นอกจากนี้ น้ำที่ใช้ในการผลิตเบียร์ต้องมีคุณภาพดี ไม่มีสี กลิ่น รส และปราศจากสารอินทรีย์ ซัลไฟด์ ไนไตรต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยความห่วงใยอยากให้ทุกคนใส่ใจในสุขภาพ โดยการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพอนามัย
วศ.โดยกลุ่มอาหารสุขภาพ กองกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร มีความเชี่ยวชาญด้านห้องปฏิบัติการทดสอบทดสอบคุณค่าทางโภชนาการและองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร หากต้องการทดสอบผลิตภัณฑ์เบียร์ ตาม มอก. 2090-2544 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2201 7195-6 ในวันและเวลาราชการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.