วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ ได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 11 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการภายในประเทศ 9 หน่วยงาน และต่างประเทศ 2 หน่วยงาน เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด ในรายการ Residue substances of PP Plastic film from evaporated in 4% (v/v) acetic acid (ASEAN PROGRAM) (pilot study) และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
พลาสติก กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน พลาสติกเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้นใช้แทนวัสดุธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ป้องกันสิ่งปนเปื้อนได้ดี จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะเห็นในรูปแบบของถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวดน้ำ หลอด รวมทั้งการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร มอก. เล่ม 1-2553 แบ่งภาชนะพลาสติกตามชนิดของพลาสติกที่ใช้ทำ (เฉพาะชั้นที่สัมผัสอาหาร) เป็น 6 ชนิด คือ พอลิเอทิลีน (polyethylene: PE) พอลิพรอพิลีน (polypropylene: PP) พอลิสไตรีน (polystyrene: PS) พอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต (poly(ethylene terephthalate): PET) พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (poly(vinyl alcohol): PVAL) และ พอลิเมทิลเพนทีน (poly(methyl pentene): PMP) ทั้งนี้ พอลิพรอพิลีน (polypropylene: PP) หรือพลาสติกประเภท PP มักใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเพราะมีความหนาแน่นต่ำ แต่มีจุดหลอมเหลวสูง ทนต่อความร้อนและสารเคมีได้ดี ไม่ทนต่อความเย็น มีความเหนียว ทนต่อแรงกระแทกและรอยขีดข่วนได้ดี มีความคงตัวไม่เสียรูปง่าย มีความแข็งแรง มีน้ำหนักเบา มักใช้ในการผลิตถุงทนร้อน ใช้สำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อการแปรรูปอาหารด้วยความร้อนเพราะทนความร้อนได้สูง และสามารถบรรจุผลิตภัณฑ์อาหารขณะที่ร้อนได้ แต่ไม่เหมาะกับการบรรจุอาหารแช่เยือกแข็ง อนึ่ง วัสดุสัมผัสอาหาร (Food Contact Materials: FCM) คือ วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่นําไปใช้ในกระบวนการผลิตหรือสัมผัสกับอาหาร ตั้งแต่อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร จานกระบวนการผลิต ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ โดยจะครอบคลุมวัสดุต่างๆ ได้แก่ พลาสติก กระดาษ ยาง ซิลิโคน จุกคอร์ก หมึกพิมพ์ โลหะและ โลหะผสม สารเคลือบผิว สารเคลือบเงา ฯลฯ วัสดุเหล่านี้มักใช้รวมกันกลายเป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น กล่องบรรจุน้ำผลไม้ จะประกอบด้วยพลาสติก กระดาษ อลูมิเนียม กาว สารเคลือบและหมึกพิมพ์ เนื่องจากวัตถุดิบดังกล่าวจะต้องสัมผัสกับอาหาร จึงเป็นแหล่งที่อาจมีการเคลื่อนย้ายของสารเข้าไปในอาหารได้ วัสดุสัมผัสอาหารจึงกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนที่สําคัญของอาหารทุกชนิด และเป็นสาเหตุให้เกิดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายกับอาหารและสุขภาพของผู้บริโภคได้
การทดสอบวัสดุสำหรับบรรจุอาหารโดยทั่วไปทำได้ 2 วิธี คือ Material test หรือการทดสอบสารในเนื้อวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ และ Migration test หรือการทดสอบการแพร่กระจายหรือการเคลื่อนย้ายของสารจากบรรจุภัณฑ์สู่อาหาร วัตถุประสงค์ในการทำ Migration test คือการวัดปริมาณสารตกค้างในอาหารจากบรรจุภัณฑ์ว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับได้หรือไม่ การทำ Migration test สามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 รูปแบบ คือ การทดสอบด้วยสารที่ใช้เป็นตัวแทนของอาหาร และการตรวจสอบอาหารในบรรจุภัณฑ์โดยตรง ทั้งนี้สารที่ละลายออกมา (migrant) ตามมาตรฐาน มอก. 656-2556 วิธีวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้กับอาหาร หมายถึง สารที่เคลื่อนย้ายออกมาจากเนื้อพลาสติก จากการสกัดหรือละลายด้วยตัวทำละลายที่เป็นตัวแทนของอาหารแต่ละประเภท ตัวอย่างการทดสอบ Migration test เช่น หากบรรจุภัณฑ์นั้นทำจากไขมันก็จะใช้น้ำมันมะกอกเป็นตัวแทนอาหาร และในการทดสอบบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุที่มีค่าความเป็นกรดจะใช้ acetic acid เป็นตัวแทนอาหารในการทดสอบเป็นต้น และตามมาตรฐาน มอก. 655-2553 ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร ได้กำหนดคุณลักษณะที่ต้องการต่างๆ ไว้ รวมถึงคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ได้แก่ สี สีผสมในพลาสติกที่ละลายออกมา โลหะและสารอินทรีย์ในพลาสติก และปริมาณสารที่ละลายออกมา (เฉพาะชั้นสัมผัสอาหาร) ซึ่งมีรายละเอียดระบุเกณฑ์มาตรฐานกำหนดของรายการสิ่งที่เหลือจากการระเหยของปริมาณสารที่ละลายออกมา ไว้ในมาตรฐานฉบับนี้ด้วย
วศ. ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพด้านอาหารและอาหารสัตว์ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาอาหาร รายการ Residue substances of PP Plastic film from evaporated in 4% (v/v) acetic acid (ASEAN PROGRAM) (pilot study) เป็นการประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบวัสดุสัมผัสอาหาร เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ของการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ในการประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการและติดตามความต่อเนื่องของความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ หรือความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น โดยเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบในการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.