จากเด็กต่างจังหวัด ครอบครัวฐานะยากจน กำพร้าพ่อแม่ตั่งแต่ยังตั้งหลักไม่ได้ ไม่มีเงินไปโรงเรียน จนต้องสลับกับน้องไปเรียนอาทิตย์ละ 3 วัน จะกลายมาเป็นผู้คุมนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย
ตลอดเส้นทางชีวิต ผ่านความยากลำบากมาอย่างโชกโชน มีบ้างที่ท้อ แต่เพราะโอกาสที่หลายคนหยิบยื่นให้ ผนวกกับสัญญาใจจากคำพ่อ ที่อยากให้ลูกทุกคนเรียนต่อให้สูงที่สุด เป็นความท้าทาย ทำให้เขาอดทนฝ่าพันอุปสรรค ในทุกจังหวะชีวิต ด้วยความสุขุม รอบคอบ และมีเป้าหมาย ใช้ทุกโอกาสอย่างรู้คุณค่า จากเด็กบ้านนอก ได้สัมผัสเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยระดับประเทศคนแรกของหมู่บ้าน และยังเป็นนักเรียนทุนไปเรียนไกลถึงเมืองผู้ดี ก่อนจะกลับมาทดแทนคุณแผ่นดิน ในช่วงที่ประเทศไทย กำลังเปลี่ยนผ่าน จากยุคอนาล็อค สู่ดิจิทัล
ชีวิตผู้ชายคนนี้จึงน่าสนใจ … วันนี้ ทีม “วิถีชีวิต” จะพาไปรู้จัก “หนึ่งในกลไกนโยบายวิทยาศาสตร์ของระเทศไทย”
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเขาเล่าชีวิตให้ฟังว่า เป็นคน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช คุณพ่อรับราชการเป็นปลัดอำเภอ และลาออกมาด้วยเหตุผลหลายอย่าง จากนั้นมาเป็นครูได้สักระยะก็ต้องออก เพราะรายได้ไม่พอที่จะเลี้ยงลูกทั้ง 7 คนได้ คุณแม่เป็นช่างเสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า ควบคู่กับการทำนาและสวนมะพร้าว แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ พ่อกับแม่เลยตัดสินใจเลี้ยงไก่ หลายพันตัว มีรายได้เข้ามาในครอบครัวให้พออยู่ได้ ลูกได้เรียนแบบไม่ขัดสน ดร.กิติพงค์เอง เป็นคนเรียนเก่งโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ได้เป็นตัวแทนไปแข่งคิดเลขเร็วอยู่เสมอ และก็มักจะสอบได้ที่ 1 ที่ 2 มาโดยตลอด จนจบชั้นประถม พวกพี่เรียนจบเข้าไปทำงานในกรุงเทพ เหลือที่ยังคงอยู่ในวัยเรียนคือ ดร.กิติพงค์ กับพี่สาวหนึ่งคนและน้องชายอีกหนึ่งคน
ช่วงที่ชีวิตกำลังไปได้ดี จู่ ๆ แม่ก็มาล้มป่วยกะทันหัน ด้วยโรคมะเร็งตับ กว่าจะแสดงอาการก็ระยะสุดท้าย เกินเยียวยา หมอบอกอยู่ได้ 3 เดือน พ่อเสียใจ จนเสียศูนย์ ทรุดทั้งร่างกายและจิตใจ สวนมะพร้าวและที่นาที่มีอยู่ 22 ไร่ ก็ต้องขายเพื่อมารักษาแม่ สุดท้ายก็เกินยื้อ แม่ก็จากไปในวัยเพียง 46 ปี
จากวันที่แม่จากไป พ่อเหมือนขาดเพื่อนคู่คิด กลายเป็นคนซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก หมดกำลังใจในการทำงาน ไก่ที่เคยเลี้ยงก็ขายไปหมด บางวันไม่มีข้าวกิน ญาติต้องเอาข้าวสารมาให้ ลูกวัยเรียนอีก สามคน ต้องเข้าไปเรียนในตัวอำเภอ ซี่งหากจากบ้าน 12 กิโลเมตร ได้เงินจากพี่ ๆ ที่ส่งมาให้ ก็พอได้มีค่ารถและค่ากิน แต่ไม่เพียงพอสำหรับสามคน และนั่นคือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้ ดร.กิติพงค์ ต้องสลับกันไปเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ เขาจะเป็นคนสละให้พี่สาวซึ่งเป็นผู้หญิงไปเรียนเสียมากกว่า และโดยส่วนใหญ่จะติดรถ เพื่อนบ้านที่เลี้ยงเป็ด ต้องไปตลาดซื้อปลามาเป็นอาหารเป็ด เขาก็เมตตาให้พวกเราติดรถเข้าไปที่ตัวอำเภอ เราก็เสียแต่เฉพาะค่ารถขากลับ
“เป็นช่วงชีวิตที่ลำบากมาก ครูก็ไม่ค่อยชอบ เขาไม่รู้ว่าเราไม่มีเงิน ก็เลยคิดว่าเราเหลวไหล และด้วยความที่พ่อเคยเป็นปลัดอำเภอ จึงมีความคุ้นเคยกับทางโรงเรียนพอสมควร ท่านจึงเขียนจดหมายถึงผู้บริหารโรงเรียน ขอให้ยกเว้นค่าเทอมให้กับลูก ๆ เนื่องจากไม่มีเงิน ทางโรงเรียนก็ยอม วันไหนไม่ได้ไปเรียนก็จะอ่านหนังสือเอง ตอนสอบแม้จะคะแนนน้อยแต่ก็ไม่ถึงกับตก บางวิชาอาจารย์ไม่ชอบที่เราไม่ไปเรียน โดยเฉพาะวิชาชีววิทยา เราเลยต้องอ่านหนังสือหนัก พอถึงเวลาสอบเราได้ท็อป จากนั้นมาอาจารย์ก็เริ่มหันมาสนใจเรา ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสือทุกแนวและมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ จึงช่วยอาจารย์แปลหนังสือบ้าง”
ดร.กิติพงค์ เล่าต่อว่า ด้วยความที่การไปเรียนแบบกะท่อนกะแท่น ผลการเรียนในเทอมสุดท้ายของม.6 จึงไม่ค่อยดีเท่าที่ควรความหวังความฝันที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเริ่มเลือนลาง เนื่องจากพ่อได้เสียชีวิตลง ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เพราะสภาพจิตใจ และร่างกายที่ย่ำแย่หลังจากที่แม่เสียชีวิต
เมื่อต้องขาดเสาหลักของครอบครัว ไปในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต เขาจึงตัดสินใจจะสมัครเข้าทำงานในโรงงาน แต่พี่ชายคนโตมาบอกว่า ถ้าสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะส่งเรียน เช่าบ้านให้ และมีเงินให้ใช้วันละ 100 บาท ให้เวลา 1 ปี สำหรับการเตรียมตัว เป็นความท้าทาย ที่ทำให้เขามีแรงฮึดขึ้นอีกครั้ง และยอมเสียเวลาเรียนไป 1 ปี อ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อการเตรียมสอบเอนทรานซ์สู้กับเด็กทั่วประเทศ ก่อนสอบเอนทรานซ์ ประมาณ 3-4 เดือน เขาอ่านหนังสือวันละ 16 ชั่วโมง และคิดว่าเตรียมตัวมาดีในระดับนึง
“พี่ชายอยากให้ลองสอบคณะแพทย์จึงเลือกไว้อันดับ 1 และ 2 คือ แพทย์จุฬาฯ และศิริราช อันดับ 3. วิทยาศาสตร์จุฬาฯ และอันดับ 4. เลือกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเป็นคนที่ชอบเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นทุนเดิม แต่ปรากฏว่าเราติดอัน 3 ก็ดีใจเพราะส่วนตัวก็ชอบอยู่เช่นกัน”
วันแรกของการเป็นนิสิตจุฬาฯ เขาบอกว่าตื่นเต้นมาก เพราะคิดว่าตัวเองก็เป็นคนบ้านนอกและน่าจะเป็นคนแรกของหมู่บ้าน พี่ชายก็ดีใจ และเชื่อว่าถ้าพ่ออยู่ก็จะดีใจมาก ช่วงเรียนก็มีการคบเพื่อนเป็นกลุ่ม ดร.กิติพงค์ก็อยู่กลุ่มเพื่อนที่ชอบเล่น เพราะกลุ่มที่ตั้งใจเรียนมาก ๆ ก็ไม่ค่อยจะมีใครคุยด้วย สุดท้ายพอผลสอบออกมา ดร.กิติพงค์ พูดติดตลกว่า เพื่อนที่มาเล่นกับเราดันได้เกรด 3.5-3.8 ในขณะที่เราได้เกรด 2.8 เลยคิดว่าไม่ได้แล้วต่อไปนี้ต้องตั้งใจเรียนมาก ๆ พอเทอมสองก็เลยปรับนาฬิกาชีวิต อ่านหนังสืออย่างหนักตลอดเทอมทั้ง ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์เราได้เอหมด พอปี 2 อาจารย์หัวหน้าภาควิชามาท้าทายว่า ถ้าตั้งใจเรียนมีสิทธิได้เกียรตินิยม เราก็ตั้งใจเรียน จนตีตื้นขึ้นมาจนได้เกรดเทอมนั้น 3.6 เพื่อนก็มาให้ติว เราก็เหมือนได้ทบทวน และจบมาได้เกียรตินิยมอันดับสอง เป็นไปตามคำท้าทายของอาจารย์ท่านนั้นจริง ๆ
“ตอนเรียนปี 2 เงินไม่มี แต่ก็ได้มีโอกาสทำงาน เป็นผู้ช่วยวิจัยด้านโปรแกรมมิ่ง ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่แคนนอนมาทำงานร่วมกับจุฬาฯ อาจารย์ก็ให้เงินเดือน ๆ ละ 2,500 บาท ผลงานดีจนอาจารย์และบริษัทฯ ชื่นชม จากนั้นก็ได้ทำงานกับอาจารย์อีกหลายอย่าง และได้ร่วมทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นประธานสโมสรด้านวิชาการ ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ต่อมารองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต แนะนำให้ขอทุน เพราะทำงานช่วยมหาวิทยาลัย ก็เลยได้ปีละ 6,000 บาท และที่ภาควิชาก็มีกลุ่มอาจารย์อีกกลุ่มหนึ่ง ที่รวมตัวกันตั้งกองทุนเพื่อนิสิตที่ยากจน เขาก็ให้เราเดือนละ 500 บาท สรุปเราได้เงินเดือน ๆ ละ 3,000 บาท และ ได้ยกเว้นค่าหน่วยกิตทั้งหมด”
ด้วยความที่ไม่อยากรบกวนพี่ชายมาก พอจบป.ตรีจึงไปหางานทำ และก็ได้งานทำที่บริษัทแห่งหนึ่งผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยความที่มีประสบการณ์ระหว่างเรียน และพ่วงด้วยเกียรตินิยม จึงให้เขาได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่นเกือบเท่าตัว แม้ผู้ใหญ่จะให้ความเมตตา แต่ก็รู้สึกผิดในใจที่ผลิตสุราให้คนดื่มและเสพติด เมื่อจุฬาฯ ติดต่อมาให้ไปเป็นอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ภาพถ่าย เลยตัดสินใจลาออก แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นอาจารย์เนื่องจากวุฒิที่จบ กับสาขาที่จะสอนไม่ตรงกัน ก็ผิดหวังมาก
“เป็นจังหวะเดียวกับที่ กพ. ประกาศรับสมัครทุน ด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ทางด้านไบโอเทค คนที่ออกทุนนี้คือ ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการ สวทช. ในขณะนั้น ซึ่งดร.กิติพงค์ ได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนต่อที่ University of Strathclyde สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนด้านนโยบาย แต่ก็เจออุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องภาษาเพราะคนที่มาเรียน และอาจารย์ผู้สอน จะพูดสำเนียงสกอตแลนด์ ผลคือสอบตก เครียดมาก พอดีได้เจอกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อ ลินดา เขาก็เลยชวนไปโบสถ์คริสต์ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด เหมือนเป็นคนในครอบครัว นับเป็นจุดเปลี่ยนให้ ดร.กิติพงค์ มีความเชื่อและศรัทธาในพระเยซูคริสต์มาตั้งแต่นั้น และก็มักแวะเวียนไปมาหาสู่กับ ครอบครัวของลินดามาตลอดจนถึงปัจจุบัน”
ช่วงก่อนจบได้มาเก็บข้อมูลที่ประเทศไทย ดร.กิติพงค์ ได้แต่งงานกับ “คุณจรัญญา” และไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่สก็อตแลนด์ และในระหว่างที่ทำ thesis ทุนหมดเพราะจบช้าไปครึ่งปี จึงต้องทำงานขายหนังสือที่ร้านหนังสือ ของมหาวิทยาลัย และได้รับการช่วยเหลือจากพี่น้องสมาชิกคริสตจักรที่เขาเข้าร่วมจนผ่านช่วงนั้นมาได้ ซึ่งเมื่อเรียนจบกลับมาเมืองไทยดร.กิติพงค์ และภรรยา ได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่างและเป็นกรรมการในมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ดูแลเด็กเร่ร่อน เป็นกรรมการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยดูแลเด็กที่เปราะบาง ช่วยให้ทุนการศึกษา รับคนอุปการะ เป็นนักเทศน์อยู่คริสตจักรสามัคคีนนท์ จ.นนทบุรี และคริสตจักรบ้านสุขเกษม ที่รังสิต ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เปลี่ยนเด็กจากที่พูดหยาบมาก และมีพฤติกรรมก้าวร้าว กลายเป็นคนที่อ่อนน้อม สุภาพ น่ารัก
โดย ดร.กิติพงค์ บอกว่า ตรงนี้…เป็นคุณค่าที่สูงเท่า ๆ กับทำนโยบาย ทำมาเป็นสิบปี นอกจากนี้ภรรยายังเป็นอาสาสมัครมูลนิธิเด็กอ่อนรังสิต ช่วยพัฒนาจิตใจและทักษะชีวิตเด็กที่ถูกทอดทิ้งด้วย
นอกจากหน้าที่การงงานที่รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยแล้ว ทาง “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” ระบุถึงการให้ความสำคัญ กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในส่วนของเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาสว่า ….
“เข้าใจเด็กกลุ่มนี้ เพราะผมโตมากับคำว่าโอกาส พ่อให้โอกาส ยอมอดข้าวเพื่อให้ลูกเรียน พี่ชายยอมสละเพื่อให้เราได้เรียนหนังสือ ผอ.รร.มัธยม ยกเว้นค่าเทอม เพื่อนบ้านยอมให้เราติดรถ เพื่อให้ได้ไปโรงเรียน มหาวิทยาลัยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา อาจารย์ที่ภาควิชาให้ทุนเรียน เราจึงอยากทำอะไรที่คนอื่นจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เปราะบาง พอมีโอกาสก็ชวนน้องที่ทำงานไปช่วยชุมชนยากไร้ ซึ่งกิจกรรมนี้ …. เราให้คุณค่าเท่ากับการทำนโยบาย”
“พลิกปูม” ภารกิจ “พัฒนาไทย”
ดร.กิติพงค์ เล่าเสริมว่า กลับจากเรียนต่อมาเมืองไทยในปี 2544 ก็มาใช้ทุนที่ สวชท. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และต่อมา ในปี 2553 มีการตั้งหน่วยงาน สวทน. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ขึ้น มี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็น เลขาธิการคนแรก และมีผู้ร่วมก่อตั้งสิบกว่าคน ทุกคนเสี่ยงมาก แต่พวกเราก็พร้อมที่จะสร้างองค์กรให้ไปได้ ก็ต้องผ่านมรสุมมากมาย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในสังคม ดร.พิเชฐ ท่านเลยว่าเราต้องตั้งเป้าหมายประเทศโดยให้มีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ไปให้ถึง 2% ของจีดีพี ภายในปี 2570 และต้องมีสัดส่วนนักวิจัย 40 คนต่อประชากรหมื่น จึงจะพัฒนาไทยให้ทันประเทศที่มีความก้าวหน้า
ทั้งนี้ หลัง 10 ปี ของ สวทน. ได้ผลักดันให้เกิด วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาฐานวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกร นักปฏิบัติ ,สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยขับเคลื่อน นอกจากนี้ เมืองนวัตกรรมอาหารก็สามารถเปิดสาขาสองที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สาขาแรกที่ สวทช.) และโครงการ Talent Mobility ส่งเสริมให้นักวิจัยภาครัฐ ไปทำงานในภาคเอกชนช่วยเอสเอ็มอี กระทั่งมีการเปลี่ยนกระทรวงจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บทบาทและภารกิจของหน่วยงานเปลี่ยนไป จึงต้องเปลี่ยนมาเป็น สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. โดยมี ดร.กิติพงค์ เป็นผู้อำนวยการฯ คนแรก
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.