รองผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานเปิดการสัมมนาออนไลน์ “ผลการศึกษาโครงการทบทวนกลไกและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในระบบนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอข้อมูลศักยภาพของมาตรการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของภาครัฐ และการหนุนเสริมโดย พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ
(20 ตุลาคม 2564) รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ผลการศึกษาโครงการทบทวนกลไกและมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในระบบนวัตกรรม” ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลจากโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการวิเคราะห์ศักยภาพของมาตรการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของภาครัฐในประเทศไทย พร้อมกันนี้ รองผู้อำนวยการ สกสว. ได้บรรยายในหัวข้อ “ระบบนวัตกรรมไทยภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อช่วยฉายภาพระบบนวัตกรรมของประเทศไทย รวมถึงกลไกและแผนการยกระดับระบบนิเวศการทำงาน ที่จะช่วยผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมระบบนวัตกรรมของประเทศไทย โดย สกสว. ถือเป็นหน่วยงานด้านระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ที่มีพันธกิจสำคัญในการผลักดันส่งเสริมเรื่องนี้
ในส่วนของเวทีสัมมนาวันนี้ ได้รับเกียรติจากคณะนักวิจัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินตวัฒน์ ไชยชนะวงศ์ ดร.มหรรณพ ฟักขาว จาก สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล และ ดร.ขวัญชัย เขมนิจกุล นำเสนอข้อมูลกรอบการศึกษาวิจัย กรณีศึกษาการพัฒนานวัตกรรมไทยและมาตรการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI ในต่างประเทศ และข้อเสนอเพื่อยกระดับมาตการส่งเสริม RDI ในประเทศไทย
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ หัวหน้าโครงการวิจัย ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้ได้ศึกษาทบทวนมาตรการส่งเสริมสนับสนุนระบบนวัตกรรมของภาครัฐ จำนวน 30 มาตรการ ที่มีการใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – 2562 โดยใช้การวิเคราะห์เอกสาร การสำรวจข้อมูลโดยการแจกแบบสอบถามไปยังบริษัทผลิตนวัตกรรม ที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และที่มีรายชื่อในเว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรม พร้อมสัมภาษณ์เชิงลึก 92 บริษัท และหน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรการอีก 30 หน่วยงาน ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยบริษัทประมาณร้อยละ 70 ไม่รู้จักมาตรการส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐในระบบนวัตกรรม แต่ในส่วนของผู้ประกอบการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการแล้ว อัตราการได้รับประโยชน์จะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยบริษัทที่มีแนวโน้มที่จะรับรู้และใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุน RDI ของรัฐคือ บริษัทที่มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา มียุทธศาสตร์ด้าน RDI และขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค (High – Tech) ผลการศึกษายังพบอีกว่าการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมาตรการส่งเสริม RDI ช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมกระบวนการของบริษัท จึงถือได้ว่ามาตรการที่ศึกษามีประสิทธิผลระดับหนึ่ง เพราะยิ่งบริษัทมีการใช้ประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้มากเท่าใด ก็จะเพิ่มความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกลาง (Intermediaries) ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อฟากเอกชนและภาควิจัย ยังถือเป็นข้อต่อสำคัญ ที่ควรต้องมีและส่งเสริมศักภาพ
โดยตัวอย่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีและได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.เชียงใหม่ (SteP) เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ดำเนินงานอย่างมืออาชีพ โดยคณะผู้วิจัยมองว่า หน่วยงานเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาคอขวดและช่องว่างในระบบนวัตกรรมได้ เนื่องจากช่วยลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ แก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ข่าวสาร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในประเทศได้มากขึ้น
ทั้งนี้คณะนักวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะ ต่อแนวทางการมาตรการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของภาครัฐ โดยมีรายละเอียดคือ
1. ปัญหาเชิงโครงสร้าง สกสว.ควรหาแนวทางเพื่อให้หน่วยงานภายใต้ระบบ ววน. ให้ทำงานสอดประสานกัน นอกจากนี้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบ่มเพาะและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ อย่างการมีหน่วยงาน โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ของ สวทช. หรือหน่วยงานกลาง (Intermediaries) อย่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ หรือ Food Innopolis ควรได้รับการส่งเสริมหรือขยายผลมากขึ้น
2. มาตรการในเชิงอุปสงค์ยังมีค่อนข้างน้อย ควรเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการสินค้านวัตกรรม หรือสินค้าที่สามารถเติมนวัตกรรม จากหน่วยงาน ภาครัฐ กับนักวิจัยหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงความต้องการ ผลักดันมาตรฐานสินค้าที่เหมาะสม และมาตรการให้เกิดการสั่งซื้อ หรือนำไปใช้ของหน่วยงานภาครัฐ
3. ปัญหาด้านงบประมาณ ควรจัดสรรงบประมาณแบบต่อเนื่องมากขึ้น ที่มากกว่า 1 ปี ทั้งในส่วนขอองผู้ดำเนินมาตรการ และโครงการวิจัยเพื่อผลงานที่มีผลกระทบสูง และ
4. ปัญหาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงของผู้ประกอบการ ควรสร้างการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น เช่น มีสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อตอบคำถามผู้ประกอบการ ในด้านมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำมาไว้ที่จุดเดียว (single window) เพื่อความสะดวกและลดความซ้ำซ้อน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.