ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับกิจกรรม “AI Innovation JumpStart Batch3: Pitching Online” เวทีที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี เข้ามานำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อเตรียมต่อยอดนำไปใช้จริงในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มีทีมนักพัฒนา 22 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกและเข้ามานำเสนอผลงาน 22 นวัตกรรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
ดร.ภัทราวดี พลอยกิติกูล ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand: SWP) เปิดเผยว่า การนำเสนอผลงานต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ในโครงการ AI Innovation JumpStart นี้เพื่อส่งเสริมการสร้างต้นแบบนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีผู้ใช้งานจริง และสามารถขยายผลได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างต้นแบบนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์และสามารถเติบโตไปเป็นธุรกิจได้ในอนาคต
สำหรับทีมนักพัฒนานวัตกรรมทั้ง 22 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกนั้น มีผลงานนวัตกรรมโดดเด่นและน่าสนใจ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มนวัตกรรม ประกอบด้วย เทคโนโลยีด้านการเกษตร, เทคโนโลยีด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย , เทคโนโลยีงานอุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการแพทย์ โดยทุกทีมได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสชาติ (สวทช.) ทีมละ 100,000 บาท เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรมต่อไป
การนำเสนอผลงานนวัตกรรมในกิจกรรมครั้งนี้ ยังมีการมอบรางวัล Popular Vote จำนวน 3 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท แบ่งเป็น 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลจากคะแนนโหวตสูงสุดจากผู้รับชมใน Zoom Meeting ได้แก่ เครื่องคัดมะม่วงคุณภาพด้วย AI จากทีม I-Mango และระบบควบคุมการปลูกผักอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับโรงเรือนปิด จากทีม ThaiHand AI และอีก 1 ผลงานที่ได้รับรางวัล Popular Vote จากที่มีจำนวนผู้เข้าไปกด Like ผลงานมากที่สุดในเฟสบุ๊ค SWP JumpStart ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ ของทีม EasyKids Robotics
โดย ทีม I-Mango จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้นำเสนอผลงานการพัฒนา “เครื่องคัดมะม่วงคุณภาพด้วย AI” ตอบโจทย์เกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่มักประสบปัญหาการคัดเกรดมะม่วงซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้คนคัดแยกและไม่ได้มาตรฐานการตัดเกรดมะม่วง ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสและรายได้จากการคัดเกรดมะม่วงที่ผิดพลาด โดยทีมได้นำเทคโนโลยีการประมวลภาพ (Image Processing) มาประยุกต์เข้ากับซอฟต์แวร์ AI พัฒนาเป็นเครื่องที่มีลักษณะสายพานสามารถคัดแยกมะม่วงได้ตามเกรด A , B และ C โดยให้ AI เรียนรู้และจดจำจากการวัดขนาดผล และดูลักษณะของผิวผลของมะม่วงที่แตกต่างกันปัจจุบันเครื่องคัดมะม่วงคุณภาพด้วย AI ยังเป็นต้นแบบอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบจดจำหรืออัลกอลิทึมให้มีความแม่นยำและมีความรวดเร็วในการคัดแยก เพื่อให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งเกษตรกรผู้ขายและผู้รับซื้อ
ทีมนักพัฒนาจากบริษัท ThaiHand A.I. นำเสนอผลงานการพัฒนา “ระบบควบคุมการปลูกผักอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์สำหรับโรงเรือนปิด” โดยนำ AI มาประยุกต์เข้ากับระบบการควบคุมสภาวะการปลูกพืชในโรงเรือน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและควบคุมสภาวะต่าง ๆ ในโรงเรือนให้เหมาะสำหรับพืชแต่ละชนิดได้อัตโนมัติทั้งอุณหภูมิ ความชื้น สภาพแสง
จุดเด่นของระบบคือ เป็นการใช้ AI เข้ามาช่วยควบคุมแตกต่างจากระบบทั่วไปที่ยังใช้การตั้งเวลา นอกจากนี้ทีมยังได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งแตกต่างจากระบบทั่วไปที่ยังใช้คนเข้าไปตรวจสอบ และที่สำคัญข้อมูลสภาวะที่เหมาะสมกับปลูกผักแต่ละชนิด จะถูกส่งไปเก็บในระบบ Cloud เป็นฐานข้อมูลใน Web Server เกษตรกรรายอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูได้ว่าสภาวะโรงเรือนปัจจุบันเหมาะสำหรับปลูกพืชชนิดใดได้บ้าง โดยทีมมีความเชื่อมั่นว่าระบบนี้จะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลิตได้ 30% และลดแรงงานได้ถึง 50%
และทีมนักพัฒนาจากบริษัท EasyKids Robotics นำเสนอผลงาน “หุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะ” เป็นหุ่นยนต์ที่มีหน้าจอสามารถแสดงสีหน้าต่าง ๆ พร้อมกับมีเสียงสามารถพูดทักทายโต้ตอบได้ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานบริการหรือห้างร้าน ๆ ต่างที่มีลูกค้ามาใช้บริการ โดยภายในหุ่นยนต์มีระบบ Face Detection ตรวจจับและจดจำใบหน้าบุคคล สามารถพูดทักทาย โต้ตอบ และให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ได้ รวมถึงยังมีระบบการลงทะเบียน รองรับระบบการชำระเงินรูปแบบต่าง ๆ และมีระบบการจัดคิวและเรียกคิวลูกค้า เปรียบเสมือนเป็นพนักงานต้อนรับ ช่วยให้ลดขั้นตอนการใช้บริการและเพิ่มความรวดเร็วของลูกค้า ปัจจุบันมีคลินิคทันตกรรมบางแห่งนำหุ่นยนต์ผู้ช่วยอัจฉริยะไปทดลองใช้จริงแล้ว ซึ่งใช้ได้ผลดีกับเด็ก ๆ ที่มารอใช้บริการทำฟัน โดยทีมพัฒนาตั้งเป้านำไปใช้ในกลุ่มร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ต่อไป
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีและชื่นชมในความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้เข้าร่วมโครงการที่พัฒนาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ เพื่อยกระดับปรับเปลี่ยนความสามารถของผลิตภัณฑ์และบริการ ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน เป็นไปตามแนวโน้มความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะมีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมอนาคต
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายผลงานนวัตกรรมโดดเด่นที่ผ่านการคัดเลือกจากเวที “AI Innovation JumpStart Batch3: Pitching Online” เช่น ระบบการปลูกมะเขือเทศอัจฉริยะ, นวัตกรรมตรวจสอบคุณภาพทุเรียน, AI tools สำหรับงานขายของแบรนด์, หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อประสิทธิภาพสูง, ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการเทรดในตลาดทุน, อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยอัตโนมัติ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลนวัตกรรมได้ที่ https://swpark.or.th/index.php/booklet-jumpstar-3/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.