27 ธันวาคม 2564 ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ : นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เปิดโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ พร้อมพิธีมอบเงินสนับสนุนจัดทำรถเข็นรักษ์โลก ซึ่งเป็นมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้มอบหมายให้ ธนาคารออมสิน โดย นายวิชัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชน ผู้ตกงานหรือขาดรายได้ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโคริด-19 ที่มุ่งหวังให้สามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “4 ให้ ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และ ให้พื้นที่ค้าขาย
โดยมี ดร.อัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย สำนักงาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันอุดมศึกษา และ กรุงเทพมหานคร ร่วมเคลื่อนโครงการฯ ในครั้งนี้
นายวินัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ ธนาคารออมสิน ปรับภารกิจ ขยายผลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จากสถานการณ์แพร่ ระบาดของโควต-19 ซึ่งถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้จัดทำโครงการ “ออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ” ภายใต้แนวคิด “4 ให้ ได้แก่ ให้ทักษะ ให้เงินทุน ให้อุปกรณ์ และให้พื้นที่ค้าขาย ซึ่งถือเป็นการมอบความช่วยเหลือที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการ ปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะ ทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น โดยมีธนาคารออมสิน และพันธมิตรคอยช่วยเหลือเคียงข้าง ให้สามารถยังชีพตนเองและดูแลครอบครัวต่อไปได้
ด้าน นายอัมพร โพธิ์ใย ผู้อำนวยการศูนย์ DECC สวทช. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับกิจการของผู้ค้าสตรีทฟู้ด ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า ย่อมกระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ของร้านอาหารริมทางจะเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และสิ่งที่จะทำให้ร้านอาหารสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ควรจะต้องมีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในการปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสุขอนามัยของตัวเองและคนรอบข้าง การประกอบการอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้
ผู้อำนวยการศูนย์ DECC สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สวทช.พัฒนา “นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีทฟู้ด” โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร สุขอนามัย ความสะอาดของร้านและผู้ปรุงอาหาร คุณภาพของการให้บริการและความอร่อย จึงทำการออกแบบและพัฒนารถเข็นและอุปกรณ์ภายในร้านให้มีความสะอาดปลอดภัย ลดการสร้างมลพิษหรือขยะของเสีย ลดน้ำหนักรถเข็นให้เบาที่สุด สามารถใช้งานในพื้นที่ปิดได้ และปรับปรุงระบบบำบัดน้ำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเกิดเป็นนวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบ โดยผ่านการใช้งานจากผู้ประกอบทั่วประเทศมาแล้ว และได้รับความไว้วางใจเพื่อสร้างอัตลักษณ์อาหารริมทาง โดยครั้งนี้ได้ขยายผลร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และธนาคารออมสิน
โดยการมอบรถเข็นนวัตกรรมรักษ์โลกให้กับผู้ประกอบการบริเวณเขตสัมพันธวงศ์ ที่สามารถทำการค้าตามนโยบายและระเบียบของกรุงเทพมหานครในเรื่องของการรักษาความสะอาด การจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหาร โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย จึงเป็นที่มาของการต่อยอดความร่วมมือในวันนี้ โดยการส่งมอบรถเข็นฯ ให้ผู้ประกอบการเขตสัมพันธวงศ์แล้ว จำนวน 77 ราย ในย่านการค้าพื้นที่ถนนเยาวราช ถนนข้าวหลาม และถนนราชวงศ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ค้า ผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายอาหาร มีส่วนร่วมในการรักษาและพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ทำการค้า ให้มีความทันสมัย ใส่ใจธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เกิดความเป็นระเบียบเรียบเรียบร้อย สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และตอบรับตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดที่สนใจสอบถามข้อมูล ‘รถเข็นนวัตกรรมรักษ์โลก’ สามารถศึกษารายละเอียด ได้ที่ http://www.decc.or.th/streetfood หรือ ช่องทาง Line: @679hqbmi
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.