‘ขลู่’ คือ พืชท้องถิ่นที่พบได้ในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพืชที่คนชุมชนบ้านไหนหนัง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ คุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะมีการนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ สร้างรายได้เสริมมายาวนาน โดยในวันนี้ผลิตภัณฑ์จากขลู่จะผ่านการยกระดับไปอีกขั้น เมื่อชุมชนไหนหนังร่วมมือกับนักวิจัยไทยพัฒนาขลู่สู่ ‘สินค้านวัตกรรม’ ที่คนในชุมชนสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง
“ขลู่” ที่มาภาพ Forest & Kim Starr, CC BY 3.0, via Wikimedia Commons
วลีวัลย์ เอกนัยน์ นักวิจัยทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่า ขลู่ หรือ Pluchea indica (L.) Less เป็นไม้พุ่ม วงศ์ Asteraceae พบได้บริเวณพื้นที่ชื้นแฉะของประเทศแถบเอเชีย ในใบขลู่มีสารสำคัญที่มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารสำคัญในการดูแลร่างกาย คนในพื้นที่จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นชา และทำเป็นอาหาร เช่น ยำไหนหนังหรือยำใบขลู่ สำรับท้องถิ่นเพื่อสุขภาพสำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน
ชาขลู่ ชุมชนบ้านไหนหนัง
“ทั้งนี้ชุมชนบ้านไหนหนังมีความต้องการให้ทีมวิจัยนำขลู่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้โจทย์ ‘กระบวนการผลิตที่คนในชุมชนคุ้นเคย’ และผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นจะต้อง ‘เหมาะแก่การวางจำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ของชุมชน’ จึงได้วิจัยและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แชมพูและครีมอาบน้ำที่มีสารต้านอนุมูลอิสระจากใบขลู่ในรูปอนุภาคนาโนเป็นส่วนประกอบ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวสายดูแลสุขภาพที่มองหาผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและผิวกาย และเป็นการเพิ่มประเภทของสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีจุดเด่นเรื่องการนำพืชท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม”
วลีวัลย์ เอกนัยน์ ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส นาโนเทค สวทช.
ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วลีวัลย์อธิบายว่า ทีมวิจัย (รวิวรรณ ถิรมนัส, ชุติกร พึ่งบุญ และสุภัชยา แจ่มใส) พัฒนากระบวนการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากใบขลู่ให้อยู่ในรูปอนุภาคนาโน เพื่อลดจุดอ่อนของการนำสารสกัดจากสมุนไพรมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ทั้งเรื่องการแยกชั้น การตกตะกอนของสมุนไพร หรือการทำให้ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสี นอกจากนี้การพัฒนาสารสำคัญให้อยู่ในรูปอนุภาคนาโนยังช่วยให้สารออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยลดปริมาณการใช้สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ให้เหลือเพียง 1% แตกต่างจากการใช้สารสำคัญทั่วไปที่ต้องใช้ในสัดส่วน 2-3% ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องในเรื่องการไม่กระทบต่อสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี
“กระบวนการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากใบขลู่และพัฒนาให้อยู่ในรูปอนุภาคนาโน (Nano encapsulation) ทำได้ง่าย เพียงต้มวัตถุดิบในอุณหภูมิที่เหมาะสมและนำไปผสมกับองค์ประกอบอื่นๆ ตามสัดส่วนที่กำหนด จากนั้นจึงนำอนุภาคนาโนขลู่ที่ได้มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์แชมพูและครีมอาบน้ำโดยใช้กระบวนการกวน ซึ่งกระบวนการผลิตส่วนใหญ่ คนในชุมชนมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงมีอุปกรณ์เป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว”
วลีวัลย์เสริมข้อมูลว่า ปัจจุบันนาโนเทคได้ทำวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเตรียมถ่ายทอดกระบวนการผลิตสู่ชุมชน โดยในอนาคตชุมชนตั้งเป้าผลิตเป็นสินค้านวัตกรรมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชน อาทิ ให้บริการแก่ลูกค้าในโรงแรมและสปา และใช้เป็นหนึ่งในสินค้าของฝากที่ชูอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านไหนหนัง เพื่อหนุนเสริมการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
“นาโนเทคพร้อมให้บริการการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ผลิต โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับเศรษฐกิจฐานชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการสร้างของเสีย ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” วลีวัลย์กล่าวทิ้งท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.