(16 มีนาคม 2565) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เดินหน้ายกระดับการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดความสามารถในการแข่งขันเทียบเท่าสากล รวมทั้งทันต่อสถานการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพี่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 ณ ห้องประชุมใหญ่ ปส. และผ่านระบบออนไลน์ เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการระดมความคิด ประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน จำนวนประมาณ 180 คน ในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม การเกษตร โภชนาการ การแพทย์ อุตสาหกรรม พลังงาน และอื่น ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ในระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2566 - 2570 ที่จะร่วมบูรณาการการดำเนินงานในระยะ 5 ปีต่อไป ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมมือและขับเคลื่อนการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศในอนาคต และยังสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นางสุชิน กล่าวต่อไปว่า ปส. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4109
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.