กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับ 10 ประเทศอาเซียน ยกระดับการเตรียมความพร้อมและตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พร้อมประเมินสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยผ่านโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อมภายในภูมิอาเซียน
นางสุชิน อุดมสมพร รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจาก นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ “ Enhancing Emergency Preparedness and Response in ASEAN : Technical Support for Decision Making” ซึ่งมีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของโครงการฯ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการและผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในสหภาพยุโรปและภูมิภาคอาเซียน เข้าร่วมประชุมกว่า 45 คน ณ โรงแรมโมเวนพิค สยาม นาจอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2565 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการตัดสินใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจากสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี ที่เกิดขึ้นทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอาเซียน
นางสุชิน กล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจาการประชุมแล้ว ยังมีการเสริมสมรรถนะเพิ่มศักยภาพบุคลากรไทยและอาเซียน ผ่านกระบวนการฝึกซ้อมสถานการณ์บนโต๊ะ อาทิ สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบทางรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศอาเซียน เช่น การเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศข้างเคียงที่ใกล้ภูมิภาค โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการพยากรณ์การแพร่กระจายของวัสดุกัมมันตรังสี เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจควบคู่กับมาตรการและแนวทางในการดำเนินการภายใต้แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในระยะแรก ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี กองตรวจสอบทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 3104 , 3107
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.