วันที่ 28 มีนาคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยกองบริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยดำเนินการจัดส่งตัวอย่างน้ำ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการภายในประเทศ จำนวน 349 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด ในรายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการของ วศ. ภายในวันที่ 11 เมษายน 2565 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป
ดัชนีคุณภาพน้ำหรือตามมาตรฐานคุณภาพน้ำนั้น รายการที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน คือ ของแข็งละลายน้ำ (Dissolved Solids; DS หรือ Total Dissolved Solids; TDS) หมายถึง ของแข็งที่ละลายน้ำได้ แสดงในหน่วยของมิลลิกรัมต่อหน่วยปริมาตรน้ำ (มิลลิกรัม/ลิตร) ของแข็งหรือโลหะที่ละลายอยู่ในน้ำ Dissolved Solids มาจากหลายแหล่ง เช่น แหล่งอินทรีย์ ได้แก่ ตะกอน กากอุตสาหกรรมและสิ่งปฏิกูล ที่มาจากการไหลจากพื้นที่เขตเมือง ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในสนามหญ้าและฟาร์ม ส่วนแหล่งอนินทรีย์ ได้แก่ หินและอากาศที่อาจมีไบคาร์บอเนต แคลเซียม ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เหล็ก กำมะถัน และแร่ธาตุอื่น ๆ นอกจากนั้น น้ำยังอาจรับโลหะ เช่น ตะกั่ว หรือ ทองแดง ที่ผ่านท่อที่ใช้ในการแจกจ่ายน้ำให้กับผู้บริโภค เป็นต้น
ค่ามาตรฐาน ของ TDS ค่า TDS ไม่ควรเกิน 500 mg/L หรือ 500 ppm แต่หากค่า TDS เกิน 1000 mg/Lจะเป็นน้ำที่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะค่า TDS ที่สูง จะบ่งบอกถึงความเป็นไปได้ของสิ่งเจือปนที่อันตรายและต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ ค่า TDS สูง จะเกิดจากน้ำมีส่วนผสมของ โปตัสเซียม, คลอไรด์ และโซเดียม ถ้ามีอยู่ไม่มากก็ไม่มีผลในระยะสั้น แต่ค่า TDS ที่สูงก็อาจมีสารพิษ เช่น ตะกั่ว ไนเตรท แคดเมียม ละลายอยู่ ซึ่งสารดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศได้ ในการทดสอบค่า TDS มีประโยชน์อื่นประกอบด้วย (1) ด้านรสชาติ/สุขภาพ น้ำที่มีรสชาติแปลก ๆ เช่น เค็ม, ขม หรือเหมือนมีโลหะผสมอยู่ เมื่อวัดหาค่า TDS มักจะได้ค่าที่สูง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการปนเปื้อนแร่ธาตุที่เป็นพิษ (2) ค่า TDS จะบอกค่าความกระด้างของน้ำได้ ซึ่งความกระด้างของน้ำเป็นสาเหตุของการก่อตัวของหินปูนในท่อ หรือตามวาล์ว (3) ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ระดับของแร่ธาตุที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำควรจะมีค่าเท่ากับที่มีอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์น้ำนั้น การตรวจระดับ TDS และ pH ในน้ำจะมีความสำคัญมาก (4) ตรวจวัดคุณภาพน้ำเสีย น้ำทิ้งจากบ่อบำบัดโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานโรงงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ วศ. สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพน้ำ โดยจัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สาขาสิ่งแวดล้อม รายการ Total Dissolved Solids (TDS) in water เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพน้ำ เพื่อให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน การเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ในการประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการ และติดตามความต่อเนื่องความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบุปัญหาภายในห้องปฏิบัติการ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป เช่น ปัญหาที่เกิดจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.