การประชุม Conference of the Parties to the Amendment to the Convention on the Physical Protection of Nuclear Material 2022 (A/CPPNM Review Conference) ณ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย จัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของบทแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทางกายภาพของวัสดุนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และเป็นพันธกรณีที่มีผลผูกพันให้รัฐภาคีร่วมกันพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของตนเอง ภูมิภาค และระดับนานาชาติ สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุก ๆ ด้าน โดยปัจจุบันอนุสัญญาฯ มีรัฐภาคีจำนวน 154 รัฐ และในจำนวนดังกล่าวเป็นรัฐภาคีบทแก้ไขเพิ่มเติมด้วยจำนวน 129 รัฐ โดยอีกวัตถุประสงค์หนึ่งของอนุสัญญาฯ คือการสนับสนุนให้ทุกรัฐเข้าเป็นภาคีเพื่อให้เกิดการบูรณาการและผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบ (universalization)
การประชุมครั้งนี้ มีวาระที่สำคัญ ได้แก่ การกล่าวถ้อยแถลงของรัฐภาคีและผู้สังเกตการณ์ การนำเสนอและกล่าวถ้อยแถลงสั้นในช่วง topical sessions ในหัวข้อที่สำคัญภายใต้อนุสัญญาฯ และการพิจารณาเอกสารผลลัพธ์การประชุม
สำหรับประเทศไทย นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา เข้าร่วมการประชุมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนและเป็นผู้กล่าวถ้อยแถลง และมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และ ปส. เข้าร่วม โดย ปส. จะกล่าวถ้อยแถลงสั้นในช่วง topical session หัวข้อ Provisions on International Cooperation ด้วย
สำหรับประเด็นที่รัฐภาคีส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นทั่วโลก การเรียกร้องให้รัฐภาคีสนับสนุน Nuclear Security Fund ซึ่งเป็นการสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับ IAEA สำหรับการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ รวมถึงการแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อมาตรการความมั่นคงปลอดภัยของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.